ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ร่างแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเปิดช่องผู้ประกันตนมาตรา 39 ขาดส่งเงินสมทบพ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ หากมีเหตุสุดวิสัยไปต่างประเทศ-เจ็บป่วย ชี้เคยออกกฎหมายรับกลับกว่า 3 แสนคน มายื่นเรื่องแค่กว่า 5 หมื่นคน

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษกสปส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ของกองทุนประกันสังคมซึ่งต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายใน 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ได้อุทธรณ์มายัง สปส.เพื่อขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทั้งนี้ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 ได้เขียนกำหนดให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ขาดส่งเงินสมทบได้สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสปส.

"ผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งมีเหตุสุดวิสัยยกตัวอย่างไปต่างประเทศ เจ็บป่วย ทำให้ขาดส่งเงินสมทบสามารถกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนได้ โดยช่วงเวลาที่กลับมาใช้สิทธิประโยชน์กรณีต่างๆ นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่สปส.กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ เช่น กรณีชราภาพ จะไม่คิดย้อนหลังในช่วงที่ขาดส่งเงินสมทบเพราะไม่มีการส่งเงินสมทบ แต่จะคิดย้อนหลังเฉพาะช่วงที่เคยส่งเงินสมทบไว้และคิดต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนแรกที่กลับมาเป็นผู้ประกันตนและเริ่มส่งเงินสมทบใหม่ กรณีเจ็บป่วยมีเงื่อนไขว่าในช่วง 15 เดือนย้อนหลังก่อนกลับคืนสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องส่งเงินสมทบไว้อย่างน้อย 3 เดือน จึงสามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ทันทีเมื่อส่งเงินสมทบใหม่ในเดือนแรก" โฆษกสปส.กล่าว

ก่อนหน้านี้สปส.ได้ออก พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 โดยให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 มายื่นเรื่องต่อสปส.เพื่อขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 1 ปี ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 จำนวนทั้งหมด 389,418 คน แต่มีผู้มายื่นเรื่องขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนเพียง 58,487 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการคืนสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เสียชีวิตและชราภาพ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งทำงานอยู่ในสถานประกอบการต่างๆ หากลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างซึ่งทำให้สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนก็สามารถรักษาสภาพความเป็นผู้ประกันตนไว้ได้ มายื่นเรื่องต่อสปส.เพื่อขอเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้าง

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--