ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ประดิษฐ'สั่ง อย.-สบส.เข้าตรวจสอบ ขณะที่เอกชนเห็นด้วยควบคุมวิชาชีพ ส่วนแพทยสภาเผยอนุ กก.คุมคลินิกความงามเสร็จปลาย มิ.ย. เล็งประกาศราคาให้'ปชช.' ตัดสินใจ

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับแพทยสภา กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกกฎควบคุมคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานการรักษา โดยอยู่ระหว่าง ตั้งคณะอนุกรรมการในการควบคุมสถานเสริมความงามและศัลยกรรม เพื่อออกมาตรการไม่ให้มีการโฆษณาเกินจริง รวมทั้งศึกษาผลกระทบจากการเสริมความงามและศัลยกรรมด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า ปัจจุบันคลินิกเสริมความงามมีจำนวนมาก บางแห่งให้บริการนวดหน้าบำรุงผิวทั่วไป แต่บางแห่งมีการนำเทคโนโลยีเพื่อมาดึงดูดผู้บริโภคว่าสามารถทำให้หน้าเต่งตึง ชะลอวัย อาทิ มีการร้อยไหม เป็นต้น ตรงนี้มักมีการโฆษณาเกินจริงและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จากการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีชื่อว่าคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนด้านเสริมความงามจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวยและการโฆษณา ซึ่งมีตนเป็นประธาน อยู่ระหว่างจัดทำบัญชี รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จากนั้นจึงจะเสนอให้นายกแพทยสภาลงนามรับทราบ คาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมประชุมนัดแรกปลายเดือนมิถุนายนนี้

"สำหรับคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบว่า การเสริมความงาม และศัลยกรรมตกแต่ง ทั้งเสริมจมูก ทำตา เป็นการดำเนินการถูกต้องโดยแพทย์จริงหรือไม่ รวมทั้งหากมีการศัลยกรรมประเภทใดที่ไม่สมควรทำในขณะนี้ เพราะยังขาดข้อมูลทางวิชาการ จะมีการเตือนประชาชนถึงโอกาสเสี่ยงต่างๆ ส่วนการร้อยไหมที่ปัจจุบันนิยมทำกันมากจะมีการพิจารณาว่าควรต้องมีการอบรมแพทย์ให้เชี่ยวชาญก่อน ตรงนี้จะเป็นเครื่องการันตีความเชื่อมั่น ได้ด้วย" นพ.สัมพันธ์กล่าว และว่า ไม่ได้มุ่งเน้นควบคุมสถานเสริมความงามอย่างเดียว แต่จะมีการส่งเสริมด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีความสามารถด้านศัลยกรรมความงาม แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ตรงนี้จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองหลวงแห่งความงามถือเป็นการทำที่สอดรับกับนโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคัล ฮับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการควบคุมราคาค่าใช้จ่ายไม่ให้แพงเกินไปหรือไม่ นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากคลินิกเสริมความงามก็เหมือนโรงพยาบาลเอกชน ราคาก็แตกต่างกันไป แต่คณะอนุกรรมการอาจมีการพิจารณาและประกาศเป็นราคาทั่วไปของการบริการแต่ละประเภทแทน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการ เมื่อถามว่าจะออกเป็นกฎระเบียบข้อบังคับอย่างไร นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า กฎต่างๆ สามารถออกเป็นประกาศแพทยสภา สามารถดำเนินการเอาผิดแพทย์ที่ทำผิดกฎได้ แต่ในเรื่องของสถานพยาบาลจะเป็นหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่วนวัสดุเครื่องมือ ทางการแพทย์ต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ อย. ในการสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่วนวัสดุเครื่องมือ ทางการแพทย์ต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ อย. ในการตรวจสอบดูแล ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันทั้งหมด

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ อย.ตรวจสอบเครื่องมือ หรือสารต่างๆ ที่นำมาใช้ในคลินิกเสริมความงามต่างๆ รวมไปถึงอาหารเสริมตามร้านว่าถูกต้องหรือไม่ รวมไปถึงองค์ความรู้มาตรฐานการรักษาต่างๆ ได้ให้กรมการแพทย์เข้าไปดูว่า สถานเสริมความงามต่างๆ มีความรู้ตรงตามมาตรฐานจริงหรือไม่ด้วย เรื่องนี้จะมี สบส. และ อย.ที่มีอำนาจทางกฎหมายในการตรวจสอบความถูกต้อง โดย สบส.พิจารณาเรื่องสถานพยาบาล ส่วน อย.พิจารณาเรื่องเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้กำชับให้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว เพราะปัจจุบันพบประชาชนได้รับผลกระทบจากการฉีดสารต่างๆ มาก จึงต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ขณะที่ นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล แพทย์และผู้บริหารคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีคณะอนุกรรมการมาควบคุมในแง่มาตรฐานวิชาชีพ แต่ในเรื่องการกำหนดราคาค่าใช้จ่ายของคลินิกแต่ละแห่งนั้น ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การจำหน่ายสินค้า แต่เป็นการบริการทางการแพทย์ จะมีค่าต้นทุนที่แตกต่างกันไป ดังนั้นหากแพทยสภาเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามแสดงความคิดเห็นก็อยากจะ เข้าร่วมด้วย

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 5 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)