ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ไข้เลือดออกสัปดาห์ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มเฉลี่ยวันละ 570 ราย ตั้งแต่มกราคม – 4 มิถุนายน ทั่วประเทศ เสียชีวิต 44 ราย ผู้ป่วย 39,029 ราย ร้อยละ 50 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประสานขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมควบคุมป้องกันในชุมชน วัด ที่ทำงาน และโรงเรียน ผลสำรวจพบชุมชนเกือบร้อยละ 80 เลี้ยงลูกน้ำยุงลายในบ้าน

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้น่าห่วงมาก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคนี้ แม้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายมาตั้งแต่ต้นปีก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ราย เฉลี่ยวันละ 570 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนถึง 2 เท่า จำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่มกราคม – 4 มิถุนายน รวม 39,029 ราย ร้อยละ 50 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต 44 ราย พบทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้สูงอายุ ใน 26 จังหวัด มากที่สุดที่จังหวัดสงขลา 7 ราย รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช สุรินทร์ เลย จังหวัดละ 3 ราย สาเหตุที่พบผู้ป่วยมากเนื่องจากมีจำนวนยุงลายเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยุงชนิดนี้ชอบอยู่ในบ้านและรอบๆบ้าน ชอบกัดดูดเลือดคนในเวลากลางวัน และอาจกัดตอนกลางคืนได้เช่นกันถ้ายังไม่ได้กินเลือดในตอนกลางวัน ดังนั้นความเสี่ยงถูกยุงกัดจึงมีมากขึ้น รวมทั้งยุงลายแพร่พันธุ์แบบทวีคูณ ออกไข่ครั้งละ 100-200 ฟอง กำจัดได้ง่ายช่วงที่ยังเป็นลูกน้ำ การเทน้ำทิ้งลงพื้นดินและขัดล้างภาชนะจะช่วยลดยุงลายเป็นเท่าตัว

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับทีมแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลทุกแห่งให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้เจ้าหน้าที่เพิ่มการให้ข้อมูล ความรู้ ตอบข้อสงสัยแก่ประชาชนที่มีข้อสงสัย หรือกังวลกับอาการป่วยของคนในครอบครัว และจัดมุมให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออก นอกจากนี้ให้กรมการแพทย์ทบทวนมาตรฐานการรักษาจัดทำเป็นคู่มือแก่แพทย์ในการวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วย และจัดทีมผู้เชี่ยวชาญออกให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในภูมิภาคตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ปัญหาที่พบมากในกลุ่มผู้เสียชีวิตคือผู้ป่วยมักซื้อยากินเอง บางรายซื้อยาลดไข้ชนิดที่มีฤทธิ์เสริมให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น ไอโบรบูเฟน แอสไพริน รวมทั้งยาสเตียรอยด์ บางรายไปพบแพทย์ช้า

 “ขอให้ข้อสังเกตแก่ประชาชนเพื่อช่วยกันลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออก ซึ่งโรคนี้โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก และจะมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน หากหลังไข้ลงแล้วผู้ป่วยสดชื่นขึ้นแสดงว่าฟื้นไข้ แต่หากไข้ลงแล้วแม้จะพูดได้ เดินได้ แต่มีอาการซึม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถือเป็นสัญญาณของอาการช็อค ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องหมดสติหรือชักตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์โอกาสเสียชีวิตจะสูง ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด” นายแพทย์ณรงค์กล่าว

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า มาตรการที่จะทำให้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงอย่างเห็นผล คือต้องระดมความร่วมมือช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จุดที่ต้องมุ่งเน้นมากในช่วง 90 วันจากนี้ไป คือ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด สถานที่ทำงาน และทุกบ้านในชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขยายผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมจัดกิจกรรมทำลายลูกน้ำยุงลายทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศประมาณ 23,000 แห่ง ดำเนินการโรคไข้เลือดออก 3 เรื่องหลัก คือ 1.ให้เริ่มรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน (Asean Dangue Day) 2.ให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออกแก่เด็กนักเรียนหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติทุกวันจนถึงเดือนสิงหาคม 2556 และ3.ให้นักเรียนทำการบ้านโดยสำรวจลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนและที่บ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศขณะนี้พบว่าชุมชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 มีลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำในบ้าน ชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังตื่นตัวเรื่องไข้เลือดออกน้อยมาก

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ตรวจสอบมุ้งลวดหน้าต่าง ประตู ที่หอผู้ป่วยทุกหอ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ให้มีการชำรุด และปิดประตูเพื่อป้องกันยุง ให้ผู้ป่วยและญาติทายากันยุงกัด เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกสามารถแพร่เชื้อผ่านยุงลายไปสู่ผู้ป่วยอื่นและญาติได้ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดูแลไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในอาคารและบริเวณโรงพยาบาลด้วย