ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แถลงการณ์แพทย์ชนบทยืนยันดึงค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 คืนมา ร่างใหม่เป็น ฉบับที่ 10 จี้ 1 ก.ค.ต้องเห็นประกาศ พร้อมเพิ่มสาระส่วนตอบแทนวิชาชีพอื่นด้วย

 

แถลงการณ์แพทย์ชนบท ติดตามผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลและเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ

วันที่ 20 มิถุนายน 2556 โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ที่มี 3 เครือข่ายเป็นพันธมิตรร่วมกัน คือ เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม ได้มีการนัดชุมนุมที่ห้องประชุมใหญ่ของศูนย์ประชุม convention center ในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อติดตามผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลและ ที่มีการเจรจาในวันที่ 4 และ 6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา  และจนถึงวันนี้ผลการเจรจาที่ได้มีการรับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรีก็ยังมีความคืบหน้าไม่มาก และยังมีความไม่สามารถไว้วางใจได้ จึงจัดการชุมนุมเพื่อติดตามผลการเจรจาในวันนี้ขึ้นมา

การชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 1,000 คนจนล้นห้องประชุมในวันนี้เป็นการติดตามผลจากการเจรจา กดดันให้ผลจากการเจรจามีผลจริง และที่สำคัญ เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กับทีมโรงพยาบาลชุมชนและเครือข่าย เพราะเจตนารมณ์ของการต่อสู้ในครั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า “แพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้สู้แค่เรื่องเหมาจ่าย แค่เรื่องไม่เอา P4P แต่เรากำลังสู้กับวิธีคิด กระบวนทัศน์ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคชนบท การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมมายาวนาน รวมทั้งเฝ้าระวังนโยบายที่ทำลายสุขภาพ นี่คือทิศใหญ่ที่แพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนเคลื่อนมาตลอดหลายสิบปี ไม่ใช่เพิ่งมาเคลื่อนเพราะเรื่อง P4P เท่านั้น”

ประเด็นสำคัญจากผลการเจรจาที่ยังต้องมีการกดดันและติดตามอย่างใกล้ชิดคือ

1. ประเด็นการเอาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4,6 คืนมา การเยียวยาชดเชยส่วนที่วิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนถูกรอนสิทธิ์ ซึ่งในขณะนี้แพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนได้ร่างประกาศฉบับที่ 10 เพื่อมาใช้แทนประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 8 ที่มีปัญหารวมทั้งการเยียวยาชดเชยโดยเร็ว แต่ก็ยังมีแรงต้านอย่างมากโดยเฉพาะปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามชมรมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลักดันจนมีการประกาศใช้ระเบียบให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งหากรัฐบาลมีความจริงใจไม่ใช่หวังเจรจาเพื่อเตะถ่วงเวลาก็ต้องแสดงความแข็งขันในการแก้ปัญหากำจัดขวากหนามอย่างจริงจัง ก็สำเร็จได้อย่างแน่นอน

2. ในประเด็นการยกเลิกการใช้ P4P ในโรงพยาบาลชุมชนนั้น แพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนยังมีจุดยืนเดิม คือ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายคือค่าตอบแทนจูงใจให้ไปอยู่ในที่ไกลกันดาร ยิ่งไกลยิ่งได้มาก ยิ่งอยู่นานยิ่งได้มาก และได้เสนอรูปแบบการเสริมแรงการทำงานด้วยแนวคิด PQO (pay for quality and outcome) แทน P4P (pay for performance) โดย PQO เป็นหลักการการให้ค่าตอบแทนตามผลลัพธ์ไม่ใช่เกิดแต้มวัดกิจกรรมแบบ P4P โดย PQO เป็นเสมือนโบนัสสำหรับทีมงานไม่ใช่บุคคล เพราะงานสุขภาพไม่มีใครทำคนเดียวให้สำเร็จได้ ทีมทำดีผลงานถึงก็จะได้มาก ไม่เกี่ยวใกล้ไกล ไม่เกี่ยวว่าอยู่นานหรือจบใหม่ ทั้งสองส่วนคือแรงจูงใจให้เราทุกคนทำงานหนักอย่างมีความสุข ทั้งสองเครื่องมือมีเป้าหมายที่ต่างกัน จึงไม่ควรเอามาปนกัน  โดยชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนจะร่วมกันร่างอย่างรอบคอบ เพื่อนำมาประกาศใช้เป็นประกาศฉบับที่ 11 สำหรับใช้กับโรงพยาบาลชุมชน แทนการใช้ประกาศฉบับที่ 9 เรื่อง P4P แม้จะมีแรงต้านจากผู้บริหารในกระทรวงก็ตาม

3.  ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีความคืบหน้าเลยคือ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม และกรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องมีอำนาจในการเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง เรียกพยานบุคคลมาสอบถาม เพื่อให้ข้อเท็จจริงนั้นปรากฏ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง และสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมต้องมีส่วนร่วมในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย แต่ปรากฏว่ากลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ซึ่งมติการชุมนุมก็ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ภายใต้หลักการข้างต้นภายสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน

ชมรมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชน เห็นถึงความหวังและความพยายามในการแก้ปัญหาของรัฐบาลในระดับหนึ่ง แต่แรงต้านภายในกระทรวงสาธารณสุขก็ยังมีอยู่อีกมาก ชมรมแพทย์ชนบทจะให้เวลากับรัฐบาลอีก 10 วันจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2556 นี้ เพื่อให้ดำเนินการใน 3 ข้อเรียกร้องจากผลการเจรจาที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม หากไม่มีความคืบหน้าใดๆนั้นทางชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนยังมีความพร้อมจะปฏิบัติการในหลากหลายรูปแบบต่อไป