ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2556) ที่โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 โดยมีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการ บุคลากรด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ จากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านวัคซีนทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน300 คน ร่วมประชุม

นายแพทย์ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาวัคซีนของประเทศ เป็นการเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้า โดยต้องมีการปรับวิธีการคิดและปฏิบัติให้เหมาะสม มีความเป็นไปได้ทั้งด้านวิชาการและการบริหารจัดการ ความคุ้มทุน วัคซีนบางตัวจำเป็นต้องมีการพัฒนาวิจัย ผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำ บางตัวอาจนำเข้าจากประเทศผู้ผลิต ตามความจำเป็นทางเศรษฐศาสตร์ ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบว่าทิศทางควรเป็นอย่างไร

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ทิศทางการผลิตวัคซีนในประเทศ ต้องมีการวางแผนบทบาท ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าคุ้มทุน เช่น รัฐบาลได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะช่วยสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาหรืออาร์แอนด์ดี ( R & D : Research and Development) เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งภาคเอกชนอาจจะยังไม่พร้อมในเรื่องนี้ รวมทั้งต้องหารือการนำผลการวิจัยของภาครัฐที่ได้ผลและเป็นประโยชน์ นำไปต่อยอดขยายผลในทางปฏิบัติได้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ชัดเจน

ขณะนี้ มีข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่ามีการวิจัยโดยได้รับทุนสนับสนุน ก็อยากให้มีการตกลงเรื่องผลการวิจัยว่ามีการต่อยอดในประเทศที่ให้การสนับสนุนร่วมมือกันอย่างไร เพราะอยากจะให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย มาใช้ในประเทศไทยมากกว่าที่จะนำไปใช้ที่อื่น ซึ่งขณะนี้ มีหลายประเทศเข้ามาติดต่อในเรื่องการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยเช่น ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นศูนย์ของการผลิตยา แต่ขาดนักวิจัยทางคลินิก อยากจะให้ประเทศไทยช่วยส่งนักวิจัยไปช่วย เพื่อให้สามารถนำมาวิจัยต่อยอดต่อไปได้ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งผลที่ได้ ก็จะเป็นผลประโยชน์ของคนไทยด้วย เพื่อให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง และเป็นธรรม

นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เช่น การร่วมมือผลิตวัคซีนปลายน้ำในระดับภูมิภาคต่าง ๆ หรือการร่วมกันซื้อ เพื่อให้ต้นทุนวัคซีนถูกลง ส่วนในเชิงรุกเรื่องการผลิต ต้องดูเรื่องการแข่งขันด้วย เพราะถ้าผลิตวัคซีนเพื่อใช้เองในประเทศ ในปริมาณไม่มาก และส่งจำหน่าย อาจจะแข่งขันราคากับประเทศอื่นไม่ได้ จึงต้องดูกันทั้งภูมิภาค

ส่วนความกังวลว่าเมื่อเปิดเออีซีแล้วเกิดโรคระบาดที่หมดจากประเทศแล้วกลับมาระบาดอีกเช่น โรคคอตีบ ไอกรน ก็จะมีการปรับปรุงระบบการฉีดวัคซีนใหม่ อาจจะต้องฉีดในผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิต้านทานหมดไป ต้องมาฉีดกระตุ้นใหม่ นายแพทย์ประดิษฐกล่าว