ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รักษาการ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำหนังสือถึง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.)  เรื่องการจำหน่ายยาโคลพิโดลเกรลให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า เนื่องจากบริษัท บ. (ขอสงวนชื่อจริง) ได้นำยาโคลพิโดเกรลลอตใหม่จำนวน 33,201 กล่อง ขนาด 75 มก. มาเปลี่ยนให้กับ อภ. เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยาโคลพิโดเกรลซึ่งเป็นยา ซีแอลและ อภ. สั่งซื้อจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียมาจำหน่ายให้กับ สปสช. ไม่สามารถส่งของได้ตามกำหนด โดย อภ. มีสัญญาซื้อกับบริษัทอินเดีย 18 ล้านเม็ด กำหนดส่งมอบงวดแรก 8 ล้านเม็ด ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2556 ทำให้ในขณะนี้ไม่มียาในระบบวีเอ็มไอที่ สปสช.จะจ่ายให้ต่อหน่วยบริการ สปสช. จึงแจ้งให้ อภ. เสนอราคาขายยาโคลพิโดเกรลที่มีอยู่ในราคาทุนเพื่อที่ สปสช. จะได้พิจารณาสั่งซื้อต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สปสช.มีหนังสือลงวันที่ 19 เม.ย. 2556 แจ้งความประสงค์ขอจัดซื้อยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ในปี 2556 เพิ่มเติม โดยมียาโคลพิโดเกรล 6 หมื่นกล่อง กำหนดส่งของทั้งหมดภายในวันที่ 30 ส.ค. 2556 ปัจจุบัน สปสช. มียาโคลพิโดเกรลเหลือจ่ายประมาณ 1 หมื่นกล่อง และปริมาณคงคลังไม่มียาโคลพิโดเกรลคงเหลือจำหน่าย สปสช. จึงเร่งให้ อภ. เสนอราคาเพื่อออกใบสั่งซื้อนำยาเข้าระบบวีเอ็มไอ เนื่องจากต้องเร่งดำเนินการตั้งเรื่องเบิกจ่ายงบประมาณ สำหรับยาโคลพิโดเกรล 1.8 แสนกล่อง ที่ อภ. จะทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทอินเดียและควรจะส่งของงวดแรก 8 หมื่นกล่อง บริษัทยังไม่สามารถส่งมอบได้และยังไม่มีคำตอบว่าจะส่งมอบได้เมื่อไหร่ อีกทั้งต้องดำเนินการตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนจำหน่าย ส่งผลให้ยามีโอกาสขาดเป็นเวลานาน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2556 และวันที่ 2 ก.ค. 2556 ผอ.ฝ่ายการตลาดได้หารือและเสนอยาที่ อภ. แลกเปลี่ยนจากบริษัท บ. 33,201 กล่อง หรือ 996,030 เม็ด โดย สปสช. ยินดีที่จะสั่งซื้อทั้งหมด โดยขอให้ อภ. จำหน่ายในราคาต้นทุน 372.41 บาท และเห็นว่า อภ. ควรสั่งซื้อยาดังกล่าวให้ สปสช. มียาสำรอง 6 เดือน ในระบบวีเอ็มไอ

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า ในอดีตก็เคยมีกรณีการบริหารจัดการยาโคลพิโดลเกรลจำนวน 1 ล้านเม็ด มูลค่า 12 ล้านบาท ที่ซื้อมาแล้วไม่ได้จำหน่ายและยาใกล้หมดอายุต้องแลกเปลี่ยนคืนกับบริษัท มาวันนี้จะซื้อยาดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษอีก จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า รู้ทั้งรู้ว่ายาจะหมดเมื่อไหร่ แต่ทำไมไม่มีการวางแผนการจัดหาที่เหมาะสม ทำไมปล่อยให้ยาใกล้หมด แล้วมาบอกว่าบริษัทในประเทศอินเดียส่งให้ไม่ทัน ซึ่งจะทำให้ต้องซื้อยาแพงขึ้น ดังนั้นคงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--