ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส. เปิดงาน R2R โชว์ “วิจัย” เด่น 46 เรื่อง ย้ำ “R2R เป็นหัวใจการพัฒนาที่ยั่งยืน” เปลี่ยนระบบสุขภาพที่ดีให้ประชาชน

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)และภาคีเครือข่าย R2R จัดงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย Routine to Research (R2R) ครั้งที่ 6 “ร่วมสร้างวัฒนธรรม R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”ขึ้น ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2556 โดย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลในวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส.และภาคีเครือข่าย R2R ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความรู้ผ่านกระบวนการทำงานวิจัยที่พัฒนามาจากงานประจำ โดยยึดเป้าหมาย “ประโยชน์ของประชาชน” เป็นที่ตั้ง ทำให้เกิดความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาการให้บริการในระบบสุขภาพ ตลอดจนการขยายเครือข่าย R2R ให้กว้างขวางและมีพลังในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขได้สร้างสรรค์งานวิจัยจากงานประจำนั้น สามารถทำให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ผู้ทำวิจัยและผู้ใช้บริการในระบบสุขภาพ   

“แต่ทั้งนี้งานวิจัย R2R คงไม่สามารถขยายประโยชน์ให้กว้างขวางออกไปได้ หากผู้บริหารในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงขอความร่วมมือจากผู้บริหารทุกระดับให้การส่งเสริมและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆ ให้สามารถสร้างงาน R2R ได้โดยสะดวก รวมไปถึงสนับสนุนการออกไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและนอกสังกัด เพื่อให้งาน R2R พัฒนาไปอย่างไร้ขีดจำกัด ในด้านผู้ปฏิบัติงานขอให้ยึดเป้าหมาย “ประโยชน์ของประชาชน” เป็นสำคัญ โดยหัวใจสำคัญของรางวัล R2R ดีเด่น คือ คุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มขึ้น  ซึ่งผลพลอยได้จากงานนี้ คือกำลังใจที่ดีในการทำงานต่อไป”
นายสรวงศ์ กล่าว

ทางด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย หรือ Routine to Research (R2R) เป็นการจัดงานร่วมกันของ สวรส. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาคีเครือข่าย R2R โดยจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมบุคลากรด้านสาธารณสุขให้มีโอกาสสร้างสรรค์งานวิจัย โดยใช้ข้อมูลจากการทำงานประจำ และนำผลวิจัยที่ได้ไปพัฒนางานประจำอีกต่อหนึ่ง รวมทั้งคาดหวังว่างาน R2R จะช่วยส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การจัดงาน R2R นับเป็นโอกาสดีที่คนทำงานด้านสาธารณสุขจากทั่วประเทศจะได้มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ การเสริมเทคนิคความรู้จากวิทยากร ตลอดจนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการเสริมพลังซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพให้ก้าวหน้าต่อไป

“ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา สวรส.และภาคีเครือข่าย R2R ได้ขยายแนวคิด กระตุ้นและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนางานประจำจากการทำงานวิจัย จนเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยหัวใจสำคัญของการสร้างและพัฒนาเครือข่ายให้เชื่อมโยงและสนับสนุนกันอย่างยั่งยืน คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของคนทำงานในระดับต่างๆ รวมถึงการให้กำลังใจและส่งเสริมให้งานวิจัย R2R เป็นที่รู้จักและขยายคุณค่าให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งหากตอกย้ำการดำเนินงานเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ หวังว่าวัฒนธรรมการทำงานวิจัย R2R ก็จะเกิดขึ้นในคนทำงานด้านสาธารณสุข ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนางานบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน  สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมในปีนี้มีจำนวนประมาณ 1,000 คน และมีผลงานวิจัย R2R ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจำนวน 46 เรื่อง จาก 6 ประเภท คือ บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ หน่วยงานสนับสนุนงานบริการ หน่วยงานสนับสนุนงานบริหาร โดยปีนี้ได้เพิ่มกลุ่มนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของบุคลากรด้านสาธารณสุขด้วย

สำหรับกิจกรรมการประชุมประกอบด้วยหัวข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีเนื้อหาเข้มข้นทั้ง 3 วัน อาทิ เวทีเสวนาเรื่อง “วิถี R2R สู่วัฒนธรรมการเรียนรู้” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  ประโยชน์ของงานวิจัยกับการขับเคลื่อนองค์กร  ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขด้วย R2R เครื่องมือเสริมสมรรถนะบุคลากรสาธารณสุข  R2R ก้นครัว วิทยากรจาก บ.เอ็มเคเรสโตรองต์  ตลอดจนร่วมสร้างกระแสวัฒนธรรม R2R หัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเจ้าของผลงานวิจัย R2R ดีเด่น เช่น การพัฒนารูปแบบความร่วมมือการรักษาผู้ป่วยกระดูกหักระหว่างหมอพื้นบ้านกับหมอกระดูก  การฝึกพูดในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่  การลดอัตราการขาดยาของผู้ป่วยจิตเวชด้วยการดูแลแบบเครือข่าย  นวัตกรรมเครื่องช่วยพยุงขาฝึกยืน ฯลฯ รวมไปถึงการบรรยายพิเศษ เรื่อง“วิจัยกับการเพิ่มผลผลิตของชาติ” โดย ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  และเวทีเสวนา “ทิศทาง R2R ต่อระบบสาธารณสุขไทย” ก่อนเข้าสู่พิธีมอบรางวัลผลงาน R2R ดีเด่นโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานพิธีปิดในวันสุดท้าย