ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเผย 7 เดือนปีนี้พบป่วยโรคตาแดง 64,350 ราย เตือนล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัส 'แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ลูกบิดประตู ราวจับรถเมล์ ฯลฯ'

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียทำให้เยื่อบุตาอักเสบ โรคนี้จะมีการระบาดเป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่พบมากในช่วงฤดูฝน เชื้อจะติดต่อกันง่ายและรวดเร็วจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ที่เป็นโรค ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้มีอาการตาแดงอย่างเดียว หรือร่วมกับอาการเจ็บคอ มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนลามมาอีกข้าง ล่าสุดได้มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเตือนประชาชนทุกคน ขอให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้า และชำระล้างร่างกาย โดยเฉพาะเด็กต้องดูแลเรื่องความสะอาด ยิ่งพื้นที่น้ำท่วมต้องระวังอย่าเล่นน้ำท่วมขัง เพราะอาจมีเชื้อโรคเจือปน

"ในปี 2556 รายงานการเฝ้าระวังโรค ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2556 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคตาแดง 64,350 ราย ไม่มีเสียชีวิต โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุ 45-54 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 จังหวัดแรกได้แก่ ฉะเชิงเทรา แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ หนองคาย และเชียงราย" นพ.ณรงค์กล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า หากมีอาการระคายเคืองตา ควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาด ปิดบริเวณรอบดวงตา ประมาณ 20 นาที หากยังอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เพื่อให้การรักษาเบื้องต้น ซึ่งทุกแห่งมียาหยอดตาและยาแก้อักเสบอยู่แล้ว หากยังไม่หาย หรือไม่ดีขึ้นจึงไปพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล สิ่งสำคัญการใช้ยาหยอดตารักษาโรคตาแดง ควรใช้เฉพาะบุคคลที่ป่วย ไม่ควรใช้ยาหยอดตาหรือถ้วยใส่ยาล้างตาร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากถ้วยหรือปลายหลอดยาหยอดตาที่ใช้แล้วจะมีเชื้อโรคติดอยู่ ทำให้เชื้อแพร่ระบาดติดต่อกันได้

นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวว่า โรคนี้ไม่ติดต่อทางการสบสายตา ทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน จะติดโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อที่อยู่ในน้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วย โดยจะเกิดอาการได้ใน 1-2 วัน และสามารถแพร่เชื้อติดต่อผู้อื่นได้ประมาณ 14 วัน โรคนี้จะติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน จึงขอให้ประชาชนล้างมือทุกครั้ง หลังหยิบสิ่งของต่างๆ เช่น แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ลูกบิดประตู ราวบันได ราวจับรถโดยสารสาธารณะ หรือหลังจากว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ หรือในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--