ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เช้าวันนี้ (7 สิงหาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการอภิปรายและแนวทางการดำเนินงานต่อในอนาคต ในการประชุมสาธารณสุขแนวชายแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Biregional Meeting on Healthy Borders in the Greater MeKong Subregion)

จัดโดยองค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กทม. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูง และผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข พาณิชย์ เกษตร แรงงาน ต่างประเทศ การท่องเที่ยว ทรัพยากรฯ จาก 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย และจังหวัดยูนนาน ประเทศจีน ภาคเอกชน เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) และองค์กรเอกชน เข้าร่วมประชุมประมาณ 180 คน เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพประชากรที่เคลื่อนย้าย แรงงาน และประชาชนที่อาศัยในพื้นที่แนวชายแดน 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกันในอนาคต

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศคือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งโรคตามแนวชายแดน แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆของประเทศ โดยโรคที่ยังพบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เช่น เอชไอวี เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย โรคอุบัติใหม่ ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ ล่าสุดการรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะส่งเสริมการค้าบริเวณชายแดน เคลื่อนย้ายข้ามแดนของประชาชนในภูมิภาคเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ปัญหาสาธารณสุขตามแนวชายแดนมีความรุนแรงขึ้น ทั้งโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อุบัติเหตุจราจร รวมทั้งอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ ที่ผ่านเข้ามาในประเทศด้วย

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ปัญหาสาธารณสุขแนวชายแดนเป็นปัญหาของทั้งภูมิภาค ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงต้องอาศัยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อระดมทรัพยากรและการสนับสนุนในการวางแผนและการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของภูมิภาค เป้าหมายสูงสุดในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขแนวชายแดน คือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภูมิภาคให้เกิดขึ้น โดยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีขั้นตอนการพัฒนา 3 ขั้น ขั้นแรกคือการสร้างระบบบริการสุขภาพและพัฒนาบุคลากร โดยรับบุคลากรสาธารณสุข เช่นแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าทำงานในโรงพยาบาลแนวชายแดนไทย โดยได้รับใบอนุญาตชั่วคราว และมีสิทธิ์รับการพัฒนาศักยภาพต่อในไทย ขั้นที่ 2 สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยสร้างหน่วยบริการปฐมภูมิในประเทศเพื่อนบ้านตลอดแนวชายแดนไทย ระบบส่งต่อในชุมชน และโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ หน่วยบริการปฐมภูมิรับผิดชอบดูแล ทั้งการควบคุมโรค เอชไอวี เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และการดูแลรักษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลที่มีอยู่เพื่อให้บริการระดับทุติยภูมิ และขั้นสุดท้ายการระบุสิทธิประโยชน์หลักและพัฒนารูปแบบระบบการเงินด้านสุขภาพ เพื่อเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยพร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพเพื่อร่วมทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรนานาชาติอื่นๆ เพื่อให้ได้รูปแบบหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของภูมิภาค