ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'อย.'เอาจริง เร่งออกกฎหมายคุม'ตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ' ชี้ผู้ประกอบการเพิกเฉยโทษทั้งจำทั้งปรับ เผยสุ่มตรวจคุณภาพ น้ำดื่มทั่วประเทศ รู้ผล ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดอบรม ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญให้ได้คุณภาพต่อผู้บริโภค ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากใช้เงินลงทุนเพียง 25,000-30,000 บาท สามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี แต่ในเรื่องของการควบคุมดูแลยังไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจน ทำให้การควบคุมคุณภาพจึงอาจไม่รัดกุมนัก ดังนั้น ในปี 2556 อย.จึงได้สุ่มตัวอย่างคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 1,500 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยของน้ำบริโภค โดยทดสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น

"การสุ่มตรวจครั้งนี้ เป็นการสุ่มตรวจตู้น้ำที่รูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่ได้มาตรฐาน ร่วมกับตู้น้ำที่ภาพลักษณะภายนอกสะอาด ดูดี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ แต่เบื้องต้นจากการตรวจคุณภาพในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 300 ตัวอย่าง พบว่าผ่านมาตรฐาน 129 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 43 ตกมาตรฐาน 171 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 57" ภญ.ศรีนวลกล่าว และว่า จากผลการตรวจคุณภาพน้ำจากตู้หยอดเหรียญ พบว่ารายการที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด คือ ค่าความเป็น กรดด่าง ซึ่งอาจมาจากระบบการกรองของตู้ (Reverse Osmosis) ซึ่งไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนด (ค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ ph 6.5-8.5) อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังไม่ต้องกังวลมากนัก หากจะให้มั่นใจยิ่งขึ้น ก่อนการบริโภคน้ำจากตู้หยอดเหรียญอาจนำไปต้มอีกรอบก็ได้

ภญ.ศรีนวลกล่าวอีกว่า อย.ไม่ได้นิ่งเฉยที่จะดำเนินการควบคุมคุณภาพน้ำดื่ม โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องน้ำบริโภคจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อกำหนดคุณภาพของน้ำบริโภคที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติโดยตรง ซึ่งอ้างอิงมาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 61 มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความปลอดภัย ขณะนี้เหลือเพียงรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมมีผลบังคับใช้ในปี 2557 ซึ่งเมื่อมีผลตามกฎหมาย หากพบตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติของผู้ประกอบการรายใดไม่ได้มาตรฐาน จะมีโทษทันที ทั้งในแง่ผิดเรื่องอาหารไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ผิดในแง่อาหารไม่บริสุทธิ์ ปรับ 20,000 บาท จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 9 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--