ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ -กว่า 800 ชีวิต ในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) น้ำตาตกใน ความกลัวเข้าปกคลุมทั่วทุกหัวระแหง ความหวาดระแวงเสริมแรงให้พนักงานอยู่ในอาการวิตกจริต จดหมายร้องเรียนพฤติกรรมอันมิชอบของผู้บริหารระดับสูงมีขึ้นหลายสิบฉบับ อาทิ มีหน่วยรักษาความปลอดภัยติดตามตลอดการนำสุภาพสตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาในองค์กรใช้อำนาจสั่งการแทนจนเจ้าหน้าที่ต่างอึดอัด การเบิกเงินอย่างฟุ่มเฟือยทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ให้กับคนใกล้ชิดทั้งในและต่างประเทศ

นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการ สปสช. หัวเรือใหญ่ขององค์กร ทำได้เพียงกลืนก้อนแห่งความขมขื่นลงในลำคอ ด้วยรู้ว่าบางครั้งนโยบายอยู่เหนือเหตุผลบางข้อเสนออยู่เหนือการปฏิเสธได้

ย้อนกลับไป 2-3 เดือนก่อน ปรากฏข้อพิรุธบนโครงการที่น่าติดตามยิ่ง สปสช.ในฐานะหัวใจของการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพมาตรฐานเดียวเดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่26 มี.ค.ที่ผ่านมารับบทบาทเป็นหน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข หรือNational Clearing House (NCH)

สำหรับ "เคลียริงเฮาส์" ที่จะตั้งขึ้น นพ.ประดิษฐสินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) วาดฝันให้เป็นหน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่ดูแลเงินที่จ่ายไปยังกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

กรอบระยะเวลาดำเนินการ กำหนดไว้ว่าในวันที่ 1 ต.ค. 2557 เคลียริงเฮาส์แห่งนี้ จะแยกออกเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งรูปแบบ องค์กรมหาชนรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรของรัฐ มีงบประมาณดำเนินงานทั้งสิ้น 17 ล้านบาท โดย 10 ล้านบาทเป็นส่วนของการก่อสร้าง

เดิมทีสำนักงานเคลียริงเฮาส์ถูกวางให้ตั้งอยู่ใน สปสช. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดย นพ.อรรถสิทธิ์กาญจนสินิทธิ์ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย ในฐานะรองเลขาธิการ สปสช. ได้ทำเรื่องประกาศจ้างปรับปรุงตกแต่งด้วยวิธีพิเศษในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท

ทว่า นพ.อรรถสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรงและมีอำนาจลงนามออกประกาศ กลับลอยเหนือปัญหาด้วยการโยนเรื่องต่อให้นพ.วินัย เป็นผู้ลงนามแทน ระหว่างนั้นมีการทักท้วงจากผู้บริหารประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษอาจไม่ถูกต้องแต่ นพ.อรรถสิทธิ์ ยังคงยืนกรานในหลักการเดิม

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นว่าการคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษนั้น กำหนดวิธีการจัดหาผู้เสนอราคาด้วยเทคนิคซับซ้อน ขั้นสูงเกินความจำเป็น อาจเป็นการไม่เปิดกว้าง หรืออาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เข้าเสนอราคารายใด หรืออาจเป็นการกีดกันผู้เสนอราคาใด เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จึงทำหนังสือให้นพ.อรรถสิทธิ์ เข้าชี้แจง แต่การชี้แจงดังกล่าวกลับยังคลุมเครือ เป็นเหตุให้ สตง.ต้องถามหาความชัดเจนเป็นรอบที่ 2

ระหว่างนั้น นพ.อรรถสิทธิ์ ใช้สายสัมพันธ์อันดีต่อสายตรงไปยัง นพ.ประดิษฐ โดยอ้างว่าถูกคนใน สปสช. กลั่นแกล้ง และเป็นช่วงเดียวกับที่มีผู้ซื้อซองประกวดราคา 5 ราย ทว่าวันจริงกลับมาเพียง 2 ราย โดย 1 ราย ขาดคุณสมบัติ นพ.วินัย เห็นว่าสุ่มเสี่ยง จึงสั่งให้ยกเลิกประกาศฉบับเดิม และให้ออกประกาศใหม่

ในวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา นพ.อรรถสิทธิ์ ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตใช้สถานที่ตึกศูนย์คอมพิวเตอร์ อาคาร 3 ชั้น (Data Center) เพื่อทำเคลียริงเฮาส์ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 1 ต.ค.นี้

สำหรับศูนย์คอมพิวเตอร์ เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ดำเนินการบริหารข้อมูลสุขภาพระดับประเทศในอนาคตจะตั้งเป็น National Health Information โดย สธ.ได้ของบจากสำนักงบประมาณถึง 43 ล้านบาทและเพิ่งจัดสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. ลงนามอนุญาตให้ สปสช.ดำเนินการใช้สถานที่ได้ และสั่งการให้ข้าราชการเก็บของออกจากศูนย์คอมพิวเตอร์ภายในวันที่ 12 ก.ย.นี้ และให้กลับไปใช้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งคับแคบแออัด ข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อน 28 ราย จากทั้งหมด 44 รายจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยัง นพ.วินัย และ นพ.ณรงค์เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว

เกิดเป็นคำถาม ประการแรก การออกหนังสือของนพ.อรรถสิทธิ์ ถึง สธ. โดยเลขาธิการ สปสช.ไม่ทราบเรื่องเข้าข่ายผิดวินัยหรือไม่ ประการต่อมา มีความจำเป็นอันใดที่ต้องดึงดันใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ สธ. จนข้าราชการตัวเล็กๆ ได้รับความเดือดร้อน ประการสุดท้าย แม้ว่า นพ.ชาญวิทย์ กับ นพ.อรรถสิทธิ์ จะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่การตัดสินใจครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลใดที่จะใช้อธิบายถึงความเหมาะสม

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันข้อครหาลุแก่อำนาจและข้อเคลือบแคลงเรื่องเปิดช่องให้สธ. เตะตัดขา สปสช.ยึดกุมเคลียริงเฮาส์เอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 11 กันยายน 2556