ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

Hfocus -ยังมีคำถามในประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ ว่าคนเหล่านี้ควรได้รับสิทธิในลักษณะไหน เนื่องจากเข้ามาทำงานในไทยเต็มที่ 4 ปี ก็ต้องกลับประเทศต้นทาง

การกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติต้องเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม ทำให้มีปัญหาตามมาในเรื่องการเข้าถึงสิทธิ เช่น บำนาญชราภาพและสิทธิการรับเงินชดเชยว่างงาน เป็นต้น เนื่องจากมาตรา 33 ถูกออกแบบมาสำหรับแรงงานในประเทศและมีการคุ้มครองตลอดช่วงชีวิต

ประเด็นดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ตระหนักและมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาการปรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับแรงงานกลุ่มนี้ โดยเชิญเครือข่ายองค์กรเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติร่วมให้ความเห็นและประชุมไปแล้วหลายครั้ง

ล่าสุดวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับคณะทำงานติดตามประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ มองมุมไหนในมิติ AEC”

โรยทราย วงศ์สุบรรณ เจ้าหน้าที่เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนและรอรับรองสถานะมีทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านคน มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนประกันสังคมแค่เพียงกว่า 3.5 แสนคน ซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข 2 แสนคน รวมทั้งหมดมีแค่กว่า 5.5 แสนคนที่ได้รับการคุ้มครอง คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 50% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ สปส.ประสานกับกรมการจัดหางาน เร่งขึ้นทะเบียนประกันสังคมแรงงานต่างด้าว รวมทั้งลดขั้นตอนการดำเนินการยื่นขอใช้สิทธิประกันสังคม เพื่อให้เข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น

บัณฑิต แป้นวิเศษ กรรมการปฏิบัติการเครือข่ายเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับแกนนำสหภาพแรงงานและแกนนำแรงงานข้ามชาติ พบว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากนายจ้างบางรายไม่ยอมแจ้งนำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนกับ สปส. แต่กลับหักเก็บเงินค่าจ้างลูกจ้างไปแล้วอ้างว่าจะนำเงินส่งประกันสังคมให้ 

นอกจากนี้ กรณีการเข้าไม่ถึงข้อมูลในด้านการใช้สิทธิ ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไปหาซื้อยาตามร้านขายยาหรือไปรักษาที่คลินิกใกล้ที่พักของตัวเองแทน

"เหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้าประกันสังคมน้อย เพราะประกันสังคมถูกออกแบบมาใช้สำหรับคนไทย ที่ต้องได้รับการคุ้มครองในระหว่างการทำงานจนถึงวัยชรา แต่แรงงานข้ามชาติอยู่ทำงานเพียง 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศ ส่งผลให้เข้าไม่ถึงการใช้สิทธิประโยชน์มาตรา 33 เช่น การรักษาพยาบาล ลาคลอด เงินสงเคราะห์บุตร ชดเชยการขาดรายได้ การประกันการว่างงาน และบำนาญชราภาพ"

ทรงพันธ์ ต้นตระกูล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำการศึกษารูปแบบสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานต่างด้าวในช่วงเดือน ธ.ค.2555-ก.ค.2556 ให้ข้อมูลว่า จากการสัมภาษณ์แรงงานที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม พบว่าแรงงานยินดีจ่ายเงินสมทบเพราะหวังพึ่งในเรื่องรักษาพยาบาล แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างเนื่องจากไม่รู้สิทธิและปัญหาเข้าถึงสิทธิ นอกจากนี้การเข้าถึงสิทธิอื่นๆก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การใช้สิทธิสงเคราะห์บุตร บางรายไม่มีทะเบียนสมรส เมื่อมีบุตรจึงต้องให้ทางสถานทูตรับรองการเป็นสามี ภรรยาและบุตร

"ยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้ สปส.ตรวจสอบสถานประกอบการ เพราะเขาต้องการเข้าประกันสังคมแต่ไม่กล้าเรียกร้องหรือบอกนายจ้าง เพราะกลัวไม่ได้ทำงานต่อ"

ส่วนประเด็นที่ว่าแรงงานข้ามชาติควรได้รับการคุ้มครองแบบไหนเท่าใดนั้น ทรงพันธุ์ให้ความเห็นว่าสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ของ สปส. สอดคล้องกับมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จึงไม่คิดว่าจะมีการลดสิทธิประโยชน์เพราะจะมองเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

เช่นเดียวกับ บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ระบบประกันสังคมของไทยครอบคลุมสวัสดิการด้านต่างๆทั้ง 7 กรณี ดังนั้นไม่อยากให้ สปส. คิดแบบถอยเข้าคลองโดยการยกเว้นสิทธิประโยชน์ แต่ควรให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทย

"ที่ผ่านมานโยบายด้านแรงงานข้ามชาติเน้นการควบคุม ซึ่งควรจะเพิ่มมุมมองด้านคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ทำให้เราได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงควรที่คุ้มครองให้เขาได้รับสิทธิ ได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นแรงงานที่ไม่ต่างจากคนไทย"

ด้าน อารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบปัญหาแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ซึ่ง สปส.คงต้องหามาตรการให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบ รองรับการเปิดประชาคมอาเซียน

ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์บางมาตรายังไม่สอดคล้องกับลักษณะการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดรับกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไปด้วย เบื้องต้นเห็นว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนและทำงานในไทยถูกต้องตามกฎหมายควรได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน แต่จะต้องมีการปรับเงื่อนไขและระยะเวลาเกิดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ทำงานในไทย 

"คาดว่าคณะทำงานที่ศึกษาจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมต่อไป"

ขณะเดียวกัน สปส.จะหารือกับกรมการจัดหางานเพื่อเร่งนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมให้รวดเร็วขึ้น โดยในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติจะขอให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราว หรือให้นายจ้างสามารถนำใบเสร็จค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตทำงานมายื่นขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ ขณะเดียวกันจะทำคู่มือชี้แจงให้นายจ้างได้มีความรู้ความเข้าใจและรู้ถึงประโยชน์ของการนำลูกจ้างต่างด้าวเข้าสู่ประกันสังคมด้วย

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เสนอให้มีการปรับระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ให้เริ่มต้นหลังจากเข้าเป็นผู้ประกันตนได้เลย โดยยกตัวอย่างบริษัทเอกชนที่ทำประกันชีวิตแล้วได้รับความคุ้มครองตั้งแต่วันแรก แต่เงินประกันสังคมกว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิครอบคลุมจะต้องใช้เวลา 1-3 เดือนหลังจากที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว

“แรงงานในอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ซึ่งจะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นดังนั้นไทยควรมีมาตรการในการรองรับแรงงานเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานแบบเหมาช่วงหรือเอ้าท์ซอส ซึ่งประกันสังคมยังไม่ได้เข้าไปดูแลแรงงานกลุ่มนี้”