ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เมื่อวันที่ 30 กันยายน น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ เจ้าหน้าที่เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ ในการสัมมนาวิชาการ เรื่องประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ มองมุมไหนในมิติ AEC ว่า

จากข้อมูลล่าสุดของกรมการจัดหางาน (กกจ.) มีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนและรอรับรองสถานะกว่า 1.5 ล้านคน แต่ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนประกันสังคมเพียง 3.5 แสนคน และซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2 แสนคน จึงมีเพียงกว่า 5.5 แสนคน ที่ได้รับการคุ้มครอง ประเมินแล้วไม่ถึงร้อยละ 50 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ดังนั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ควรประสานกับ กกจ.เร่งขึ้นทะเบียนประกันสังคมแรงงานต่างด้าว ให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าว ลดขั้นตอนการดำเนินการยื่นขอใช้สิทธิประกันสังคม เพื่อให้เข้าถึงการบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ง่าย

นายทรงพันธ์ ต้นตระกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวกว่า 61,000 คน จากการวิจัยการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมในช่วงเดือนธันวาคม 2555-กรกฎาคม 2556 พบว่า นายจ้างบางส่วนหลีกเลี่ยงไม่นำลูกจ้างต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ขณะเดียวกัน นายจ้างรายใหม่ไม่สามารถนำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เช่นกัน จึงขอให้ กกจ.ร่วมกับ สปส.ผ่อนปรนการออกใบอนุญาตทำงานใหม่แก่แรงงานต่างด้าวในกรณีจำเป็น เพื่อให้นายจ้างรายใหม่สามารถนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมได้ง่าย โดยคิดค่าปรับและค่าธรรมเนียมกับนายจ้างรายใหม่

ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.อยู่ระหว่างศึกษาให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนและทำงานในไทยถูกกฎหมายได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน แต่จะต้องปรับเงื่อนไขและระยะเวลาเกิดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะกับช่วงเวลาที่ทำงานในไทย เช่น กรณีเงินชราภาพอาจจะปรับเป็นเงินบำเหน็จจ่ายให้เมื่อต้องกลับประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 2 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--