ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - ดร.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำ เสนอเรื่อง "ความเสียหายที่เกิดจากแอลกอฮอล์" ในพิธีเปิดการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก ครั้งที่ 2 (Global Alcohol Policy Conference 2013) ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมโคเอ็ก กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้ทำงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก 45 ประเทศทั่วโลก ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ดื่มแต่มาจากคนที่ดื่มเป็นเรื่องที่ยังมีการพูดถึงน้อย ไม่ครอบคลุมผลต่อคนอื่นระยะยาว สิ่งที่ไทยควรดำเนินการคือ บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้คนดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การดื่มในสนามแข่งขันฟุตบอล ซึ่งบางแห่งเป็นของรัฐบาลต้องคุมไม่ให้มีการดื่มอย่างเข้มงวด และหากจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมพื้นที่ห้ามดื่ม เช่น บนถนน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ จำนวน 2,000 คน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรีสุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร ช่วงปลายปี 2555 ถึงต้นปี 2556 พบว่า 79% เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของคนอื่น 3 ใน 4 เคยพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มแอลกอฮอล์ และ 1 ใน 3 เคยถูกทำร้ายร่างกายจากคนดื่มแอลกอฮอล์

นพ.ทักษพล กล่าวอีกว่า เด็กในครรภ์ก็ได้รับผลกระทบ จากการดื่มของมารดา โดยพบว่า หญิงก่อนตั้งครรภ์มีการดื่ม 27% ช่วงตั้งครรภ์ไม่รู้ตัวมีการดื่มราว 20% และช่วงรู้ตัวว่าตั้งครรภ์และมีการฝากครรภ์แล้วมีการดื่ม 6-7% เป็นกลุ่ม ที่โดยปกติดื่มหนัก ไม่คิดจะเลิก และเป็นกลุ่มที่ปกติไม่ดื่มแต่ดื่มหลังรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการบำรุง ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด หรือแท้จริงอาจต้องการให้แท้ง

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนในแต่ละประเทศยังไม่เป็นผลมากนัก อาทิ การขึ้นภาษี การควบคุมการเข้าถึงและการควบคุมโฆษณา ทั้งนี้ การประชุมครั้งที่ 3 ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะจัดขึ้นที่ประเทศสกอตแลน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 8 ตุลาคม 2556