ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - สบส.เผย ผลสอบ รพ.เอกชนผิดจริง ฐานปฏิเสธทำคลอด เป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิต แถมการส่งต่อไม่มีมาตรฐาน "ไม่มีรถ ไม่มีใบส่งตัว ปล่อยคนไข้เดินทางเอง" เบื้องต้นส่งเรื่องเอาผิดตามกฎหมายแล้ว พร้อมออกหนังสือเตือน ปรับปรุงมาตรฐานบริการ ด้าน "หมอประดิษฐ" สั่งเข้มทุก รพ.ต้องได้มาตรฐาน ลั่นถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สมควรเปิดบริการ

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่าการสอบสวนกรณี รพ.เอกชนแห่งหนึ่งไม่รับรักษาหญิงท้องแก่ใกล้ตลอดจนเป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิตนั้น ผลการสอบสวนสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า ทางโรงพยาบาลมีความผิดจริง ฐานปฏิเสธการรักษาคนไข้วิกฤติ ซึ่งต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ตนได้ให้นโยบายไปด้วยว่าหากโรงพยาบาล หรือสถานบริการสุขภาพแห่งใดไม่ได้มาตรฐาน จะไม่ต่อใบอนุญาตให้เป็นสถานบริการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถ้าไม่มีมาตรฐานก็ไม่สมควรเปิดบริการต่อไป

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากความเห็นของทางราชวิทยาลัยสูตินารีเวช ที่ระบุว่ากรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะจะคลอดในช่วง 1-2 ชั่วโมงนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ให้การรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการส่งต่อที่เหมาะสม คือให้คนไข้เดินทางไปเอง ไม่มีรถส่งต่อ ไม่มีหนังสือส่งตัว ดังนั้นจึงถือว่าสถานบริการมีความผิดตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่ระบุให้สถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแล ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพอันตราย ให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานสถานพยาบาล และมาตรฐานวิชาชีพของสถานพยาบาลนั้นๆ ทั้งนี้ เมื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อต้องจัดให้มีการส่งต่อไปยังสถานบริการที่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้จะมีโทษตามมาตรา 36 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังพิจารณาด้วยว่ามีความผิดตามมาตรา 35 (4) เรื่องมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ สบส.ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามระเบียบแล้ว ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการให้โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงเรื่องการดูแลผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน และการปรับปรุงมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน และยังได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

"ตามระเบียบสถานพยาบาลเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเยียวยาผู้เสียหาย เราจะดูแลกำกับให้สถานพยาบาลดำเนินการตามมาตรฐานเท่านั้น ฉะนั้นในส่วนเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป หรือไกล่เกลี่ยกันเอง"

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปแล้วการคลอดบุตรถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่แพทย์ห้ามปฏิเสธการรักษาหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า การคลอดมีหลายระดับ ถ้าเป็นระยะแรกก่อนคลอดนั้นถือว่ายังไม่ฉุกเฉิน การเริ่มเจ็บท้องบางรายเจ็บท้องเป็นวัน แต่กรณีนี้ทางราชวิทยาลัยสูตินารีเวชให้ความเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะถือเป็นช่วงสุดท้ายของการใกล้คลอด ที่คนไข้จะคลอดภายใน 1-2 ชั่วโมงนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 23 ตุลาคม 2556