ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -นักวิชาการแนะใช้โมเดลคนอีสานไม่แบ่งแยกอยู่ร่วมแรงงานข้ามชาติ แก้ปัญหาคนงานเขตเมือง

นางโสภี อุ่นทะยา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาอย่างมาก คือ กลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญในพื้นที่ภาคกลาง หลายกลุ่มถูกแบ่งแยกจากชุมชนคนไทยอย่างชัดเจน และเกิดปัญหาดูถูกทางชาติพันธุ์ หากคนในสังคมทั้งกลุ่มชุมชนและแรงงานปรับตัวเข้าหากันและเข้าใจกันแบบที่เกิดขึ้นในภาคอีสานจะช่วยแก้ปัญหาได้

"เรายังมีปัญหาเรื่องดูถูกทางชาติพันธุ์มาก เคยได้ฟังผู้บริหารของจังหวัดหนึ่งขึ้นพูดบนเวทีว่า แรงงานสตรีจากเพื่อนบ้านชาติหนึ่งนั้น เพียงโยนเงินให้ 1,000 บาทก็วิ่งเข้ามากราบเท้าแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเรายังมีปัญหาเรื่องทัศนคติการมองเพื่อนบ้านอย่างมาก แม้กระทั่งในระดับผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ" นางโสภี กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสาน จะมองแรงงานข้ามชาติในมุมการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะปัจจุบันคนในพื้นที่ดังกล่าวเองก็ไม่นิยมทำงานยากงานสกปรก และงานอันตรายแล้ว คนในพื้นที่ต้องการให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวด้วย เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในไทย

ขณะที่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ภาคอีสาน ถือว่ามีการปรับตัวให้เข้ากับคนในพื้นที่ค่อนข้างมาก เช่น แต่งกายเหมือนคนไทย พยายามพูดภาษาที่เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม ได้แก่ พูดภาษาอีสานกับคนอีสาน พูดภาษาไทยกับคนไทย และพูดภาษาของชาติตัวเองเฉพาะตอนอยู่กับคนชาติเดียวกัน นอกจากนี้ยังดูข่าวสารและสื่อบันเทิงต่างๆของไทย จนสามารถฟังและร้องเพลงไทยได้อย่างไพเราะ

ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าวมีข้อดีในการทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ไม่เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนในพื้นที่และแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกัน การที่ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงและกลมกลืนกันก็ทำให้ยากต่อการตรวจสอบเมื่อเกิดปัญหา

นางโสภี กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนในแถบภาคอีสาน ยังได้รับข้อเสนอต่างๆ จากชุมชนในการดูแลจัดการแรงงานข้ามชาติในหลายประเด็น เช่น ให้กำหนดอำนาจหน้าที่ดูแลแรงงานข้ามชาติให้แก่ผู้นำชุมชนอย่างชัดเจน สนับสนุนให้เกิดด่านประเพณีในทุกหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับเพื่อนบ้านและให้ผู้นำชุมชนเข้าไปร่วมดูแลจัดการกับภาครัฐ จัดสวัสดิการ รวมถึงการรักษาพยาบาลให้แก่แรงงานข้ามชาติตามสิทธิมนุษยชนที่พึงได้

นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องการให้ศึกษากฎหมาย และปัญหาในกระบวนการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อนำมาสู่กระบวนการในการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้พร้อมดูแลจัดการแรงงานข้ามชาติได้อย่างเต็มที่และพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 31 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง