ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - นอกจากนมแม่จะให้ประโยชน์กับลูกอย่างมหาศาลแล้ว นมแม่ยังมีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจด้วย

นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวย การสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลความเกี่ยวข้องของประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับผู้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปในอนาคต

"จากการจัดเก็บข้อมูลใน กลุ่มหญิงหลังคลอดจำนวน 830 รายใน 5 จังหวัด พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่าย 6,616.24 บาท หรือราว 1,100 บาทต่อเดือน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในภาพรวมของประเทศ ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2555 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 7.6 แสนคนต่อปี มีร้อยละ 71 ของเด็กทารกเกิดใหม่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลา 3 เดือน และร้อยละ 38 ของทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับว่าครัวเรือนไทยจะสามารถประหยัดรายจ่ายได้มากกว่า 1.8  พันล้านบาทต่อปี" นพ.ภูษิตระบุ

นอกจากนี้การศึกษาดังกล่าวยังพบข้อสังเกตว่า แม้หญิงไทยหลังคลอดส่วนใหญ่จะเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และถึงจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2521 ที่กำหนดสิทธิการลาคลอดไว้ถึง 90 วัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมารดาจะใช้สิทธิลาคลอดน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและความจำเป็นด้านการทำงาน

"ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยได้ผลักภาระให้แม่และครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับเด็กและครอบครัว แต่สังคมและประเทศชาติก็จะได้รับประโยชน์จากการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ รวมถึงยังช่วยลดภาระทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และรายจ่ายของครัวเรือนที่ลดลงจากการที่เด็กได้รับนมแม่อีกด้วย"

ดังนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมควรร่วมสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม ผ่านการส่งเสริมมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน ให้แม่ทำงานสามารถเก็บน้ำนมกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ รวมถึงการขยายระยะเวลาลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556