ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. มอบนโยบายพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับภาวะปกติ และภาวะภัยพิบัติ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทั้งคุณภาพบริการและการรักษาพยาบาล พร้อมพัฒนาบทบาทสายด่วน 1669 เป็นสายด่วนหมอใกล้ตัว เวลาป่วยฉุกเฉิน ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงบริการรวดเร็ว ลดการเสียชีวิตและป้องกันพิการซ้ำซ้อน ตั้งเป้าในปี 2557 จะให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเร่งด่วนได้ภายใน 10 นาที ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2556) ที่โรงแรมทีเค.พาเลซ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดการประชุมผู้บริหารผู้รับผิดชอบงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำสำงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัดหัวหน้าศูนย์สื่อสารสั่งการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ และผู้บริหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัดรวม 430 คน เพื่อชี้แจงและมอบนโยบายทิศทางการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย ให้ได้มาตรฐานสากล ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม ลดอัตราการเสียชีวิตและป้องกันความพิการซ้ำซ้อนให้แก่ผู้ป่วยหลังรับบริการทางการแพทย์

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า วันนี้ได้ชี้แจงมอบนโยบาย เพื่อแยกบทบาทหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในโรงพยาบาลที่อยู่ในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทำหน้าที่ให้การดูแลผู้เจ็บป่วยที่จุดเกิดเหตุและการรับส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยจะกำหนดภารกิจของแต่ละพื้นที่ในการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้ชัดเจนขึ้น และจะส่งเสริมขยายบทบาทบริการของสายด่วน 1669 ไม่ใช่เป็นแค่เบอร์โทรเรียกรถพยาบาลเท่านั้น แต่ให้เป็นสายด่วนหมอใกล้ตัว ประจำตัวเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการดูแลแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล เนื่องจากอาการเจ็บป่วยบางครั้งไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องส่งรถพยาบาลไปรับ หากได้รับคำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้องจากบุคลากรทางการแพทย์จากสายด่วนดังกล่าว ภารกิจในการรับส่งผู้ป่วยเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ใช้ในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรุนแรง ในกรณีอุบัติเหตุทั่วไป เช่น บาดเจ็บเล็กน้อย ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ หากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องก็สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลเองได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกรถพยาบาลออกไปรับ

ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ให้มีคุณภาพ มาตรฐานเท่าสากล โดยเฉพาะทิศทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะเน้นการสร้างมาตรฐาน 2 ส่วนคือคุณภาพบริการและคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชนทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นประชาชนทุกคน โดยบูรณาการภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน กำหนดให้ภายในปี 2559 ท้องถิ่นมีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานทุกแห่ง

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย 5 ข้อ ดังนี้ 1.ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และทีมกู้ชีพให้เป็นระดับมืออาชีพ ฝึกทักษะด้านการปฏิบัติการช่วยชีวิต ระบบการประสานงานระหว่างบุคลากรผ่านทางเทคโนโลยีต่างๆ 2. การพัฒนามาตรฐานทั้งการบริการดูแลผู้เจ็บป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล ศูนย์สื่อสารสั่งการและการให้บริการในห้องฉุกเฉิน มีระบบทางด่วนในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง การฟื้นคืนชีพ การฝึกสอนทักษะบุคลากรประจำการฯลฯ 3.การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย การดูแลระหว่างโรงพยาบาล 4.จัดระบบเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สาธารณภัยและอุบัติเหตุหมู่และ5.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ การขับเคลื่อนองค์กร การเงิน กฎหมาย ระบบข้อมูล และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่นและประชาสังคม โดยในปีงบประมาณ 2557 นี้ ตั้งเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยหนักวิกฤติเร่งด่วนให้ได้ภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของปฏิบัติการทั้งหมด

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่ออีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีนี้ จะเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือจากทีมกู้ชีพให้ได้ 10 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านคน โดยจะมีการพัฒนาการบริหารจัดการ การให้บริการที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับโรงพยาบาลทั่วประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วยตนเอง รวมทั้งการจัดการบริหารข้อมูลต่างๆ การให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้สามารถปฐมพยาบาลรักษาชีวิตในเบื้องต้นได้