ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่มีการส่งข้อความเผยแพร่ผ่านทางสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเด็กสาวบริโภคสาหร่ายทอดกรอบในปริมาณมากทุกวัน จนทำให้ม่านตาเสีย เลนส์ตาเสื่อม และไตพัง ซึ่งแพทย์แจ้งว่าอาจเกิดจากการบริโภคเกลือ และโซเดียมกลูตาเมท นั้น อย. มีความห่วงใย เด็กๆ เกรงจะได้รับอันตราย จึงขอให้ผู้ปกครอง แนะนำบุตรหลานถึงการบริโภคขนมกรุบกรอบ รวมทั้งสาหร่ายทอดกรอบ ทั้งนี้ปริมาณโซเดียม ที่ควรได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) 6 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือแกงแบบร่วน ละเอียดประมาณ 1 ช้อนชา นอกจากจะได้รับ โซเดียมจากเกลือแล้ว ผู้บริโภคยังอาจได้รับ โซเดียมจากผงชูรส(โมโนโซเดียมกลูตาเมท) ที่อยู่ในรูปของเครื่องปรุงรส/ผงปรุงรส อีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าจะบริโภคอาหารสำเร็จรูป ขนมต่างๆ สาหร่ายทอดกรอบ หรือสาหร่ายปรุงรส ขอให้ผู้ปกครองอ่านฉลาก แนะนำ บุตรหลานอ่านฉลากด้วย ว่ามีปริมาณโซเดียม เท่าใด และควรใช้วิจารณญาณในการบริโภคว่า ร่างกายควรได้รับอาหารดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ซึ่งขณะนี้ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้แสดงข้อมูลโภชนาการในรูปแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts : GDA) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อนำไปสู่การ ลด หวาน มัน เค็ม จากการบริโภคอาหาร โดยกำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ใน 1 ซอง/ห่อ และเทียบเป็นค่าร้อยละ (%) ของ ปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับในแต่ละวันบนด้านหน้าฉลากกับอาหารขบเคี้ยว 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอด หรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ และอยู่ ระหว่างขยายให้ครอบคลุมอาหารอื่น ได้แก่ ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย และผลิตภัณฑ์อาหารขบเคี้ยวอื่น ซึ่งก็รวมถึงสาหร่ายทอดกรอบด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย สามารถตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 6 มกราคม 2556