ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สธ.” ย้ำประชาชนมั่นใจบริการการแพทย์ ดูแลทุกฝ่ายเท่าเทียม ป่วยฉุกเฉินทั้งกายและจิต หากเดินทางไม่ได้ โทรแจ้ง 4 สายด่วน คือ1646, 1669 ,02 354-8222 และ 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง 

วันนี้( 12 มกราคม 2557) ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม.นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวความพร้อมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ในการดูแลประชาชนในการชุมนุมใหญ่ วันที่ 13มกราคม 2557  ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีหลักการทำงานชัดเจน เน้นการดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมไม่มีการแยกปฏิบัติ ทีมผู้ปฏิบัติงานยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด มีการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เช่น กลุ่มแพทย์อาสา กลุ่มโรงพยาบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร ตำรวจ โรงเรียนแพทย์ต่างๆ โรงพยาบาลเอกชน และมูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยให้ความสำคัญความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ได้แบ่งการดูแลประชาชนเป็น 2กลุ่มใหญ่ คือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือผู้ชุมนุม  และประชาชนที่อยู่ตามบ้านเรือนที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาลในช่วงที่มีการชุมนุม กรณีประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีอันตรายถึงแก่ชีวิต รัฐบาลมีมาตรการให้ไปใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ส่วนกรณีเจ็บป่วยทั่วไป ให้ใช้บริการที่โรงพยาบาลเครือข่าย ในประกันสังคม หรือในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  หากประชาชนมีความสงสัย ให้โทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วน 1330

ทางด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการดูแลประชาชนในกทม.  ศูนย์เอราวัณ กทม. ได้กำหนดแบ่งพื้นที่จัดบริการการแพทย์ออกเป็น 26จุด มีโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนร่วมปฏิบัติการ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ดูแล 7จุด คือที่ ถนนสีลม แยกราชเทวี แยกประตูน้ำ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกพญาไท แยกดินแดง และห้าแยกลาดพร้าว โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ดูแลทั้งผู้ชุมนุมที่เจ็บป่วยทั่วไป รวมทั้ง การเจ็บป่วยฉุกเฉิน  โดยจัดทีมแพทย์ฉุกเฉินชั้นสูงจากโรงพยาบาลในสังกัด กรมการแพทย์ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทำงานร่วมกับทีมกู้ชีพของมูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง   กำหนดจุดรับส่งผู้ป่วยที่ทางด่วนยมราช และหัวลำโพง  

ในกรณีที่การจราจรติดขัด ไม่สามารถรับส่งผู้ป่วยในโรงพยาบาลในพื้นที่กทม.  ได้ประสานงานโรงพยาบาลรอบนอกพื้นที่ใกล้เคียง ในรับผู้ดูแล  8แห่ง คือ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.สระบุรี รพ.นครปฐม รพ.ราชบุรี รพ.สมุทรสาคร รพ.สมุทรปราการ รพ.ชลบุรี และรพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา  ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมทั้งบุคลากร เตียงผู้ป่วย คลังเลือด ห้องผ่าตัด ไว้แล้ว  ทั้งนี้หากประชาชนเจ็บป่วยอยู่ที่บ้าน และไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้  ขอให้โทรแจ้งสายด่วน 3หมายเลข ดังนี้ 1646  ศูนย์เอราวัณ กทม. , สายด่วนกู้ชีพ กระทรวงสาธารณสุข 1669 และ02-354-8222ของศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี จะจัดส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่บ้าน

ทางด้านนายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้วางแผนดูแลสุขภาพจิตของประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม โดยแบ่งเป็น 3กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่อยู่ในที่ชุมนุม  กลุ่มเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครผู้ปฏิบัติงาน และกลุ่มประชาชนทั่วไป  โดยผลกระทบที่มีต่อร่างกาย  อาจแสดงออกเช่นเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ด้านจิตใจ อาจเกิดความว้าวุ่น  เครียด นอนไม่หลับ หรือมีอาการซึมเศร้า ส่วนในด้านสังคม อาจจะมาจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน จะนำไปสู่ความรุนแรงได้  จึงขอแนะนำให้ประชาชน จัดเวลาพักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอ  พูดคุยกันจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดได้ และหากมีอาการมาก เช่นนอนไม่หลับติดต่อกัน หรือซึมเศร้าไม่อยากคุยกับใคร ขอให้รีบพบแพทย์ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323ตลอด 24ชั่วโมงฟรี    

ในกรณีของประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิมและต้องพบแพทย์ตามนัด  กรมสุขภาพจิตได้เลื่อนนัดผู้ป่วย พบแพทย์และรับยาล่วงหน้าแล้ว  และหากจำเป็นต้องพบแพทย์อีก หรือเดินทางไปรับยาที่สถานที่นัดเดิมไม่ได้ สามารถติดต่อรับยาจากโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตใกล้เคียง หรืออยู่ปริมณฑลได้ทุกแห่ง  ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลยาของผู้ป่วยและยาที่ใช้ หากติดขัดให้โทรแจ้งสายด่วน 1323เช่นกัน

ทางด้านนายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย  รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ได้กำหนดมาตรฐานรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ สร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน และประสานงานหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวง และภาคเอกชน  มีศูนย์สื่อสารพร้อมให้ข้อมูลแก่หน่วยปฏิบัติการและประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์รุนแรง ได้ประสานเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางเรือ และอากาศยาน