ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอพรเทพ” สั่งเข้มกลางที่ประชุมวิชาการอาหาร ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการจัดการอาหารให้เด็กนักเรียน อาจารย์แพทย์ มอ.ชี้ ร.ร.จัดผลไม้ให้เด็ก 3 วันต่อสัปดาห์มีความชุกของเด็กอ้วนน้อยกว่า ร.ร.ที่ไม่จัด

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่โรงแรมดุสิต ปรินเซส ศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 2 ของแผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (Food and Nutrition Policy for Health Promotion : FHP) สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 2 เรื่อง “การจัดการอาหารโรงเรียน” ว่า แม้ไทยจะมีโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม โครงการอาหารกลางวัน แต่การจัดการอาหารโรงเรียนยังมีทั้งโอกาสและความท้าทายอยู่เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น ไทยยังคงต้องการกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและส่งเสริมนโยบายและกลยุทธ์ที่จะสนับสนุนให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้เด็กของเรารับมือกับการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมและมีนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน
       
“การจัดประชุมนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนที่จะมีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการและการแก้ปัญหาในอนาคตที่พึงประสงค์และมีความยั่งยืนในการบริหารจัดการอาหารโรงเรียนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การประชุมวิชาประจำปีของแผนงาน FHP จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมของการดำเนินการจัดการอาหารในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2556-2557 นี้ และเชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย และทำให้เกิดการสนับสนุนการจัดการที่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปรับปรุงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและลดโรคอ้วนในเด็กนักเรียนและประชาชนไทยในอนาคต
       
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญมากกับสุขภาวะของเด็ก การจัดการอาหารและสิ่งแวดล้อมอื่นในโรงเรียนมีอิทธิพลสูงต่อภาวะโภชนาการและนิสัยการกินของนักเรียน เช่น ในปี พ.ศ. 2549 โรงเรียนที่จัดผลไม้ให้แก่เด็กอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ มีความชุกของเด็กอ้วนน้อยกว่าโรงเรียนที่ไม่จัดผลไม้ และโรงเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มและขนมในการทำกิจกรรมในโรงเรียน มีเด็กอ้วนเป็น 1.5 เท่าของโรงเรียนที่ไม่รับ หากต้องการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีโภชนาการสมวัยพร้อมสำหรับการพัฒนาสติปัญญาให้เต็มศักยภาพ โรงเรียนควรมีนโยบายสนับสนุนการกินอาหารชูสุขภาพ ควบคุมการตลาดของอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาลหรือโซเดียมสูง และประสานความร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนของระบบจัดการอาหารที่มีคุณภาพ