ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - ปี พ.ศ. 2557นับเป็นปีแรกที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน จะต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพทั้งเงินบำเหน็จและเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งสปส.ประมาณการว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เกษียณจากการทำงานและส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือนหรือ 15 ปีได้รับเงินบำเหน็จชราภาพและส่งเงินสมทบครบ 15 ปีได้รับเงินบำนาญชราภาพรวมทั้งหมดกว่า 1.3 แสนคน จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมกว่า 8.5 พันล้านบาท

จากการคำนวณของสปส.ตามสูตรที่กำหนดขึ้นโดยยึดฐานเงินเดือนสูงสุดที่ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท แม้ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท หรือ 40,000 บาท สปส.ก็ยึดฐานเงินเดือนดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณ ซึ่งพบว่า กรณีผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 1,800 บาท เงินเดือน 10,000 บาทได้รับเดือนละประมาณ 2,000 บาท เงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,400 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท

เหนืออื่นใด ผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่เท่ากัน  โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณการทำงานบวกกับเงินปันผลกำไรที่สปส.นำเงินสมทบไปลงทุน

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสปส. อธิบายว่า ผู้ประกันตนสามารถมาตรวจสอบเงินสมทบชราภาพได้ด้วยตนเองโดยใช้เลขทะเบียนบัตรประชาชนลงทะเบียนที่ www.sso.go.th และมายื่นเรื่องขอรับเงินบำนาญชราภาพโดยกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน(สปส.2-01) พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาสมุดบัญชีธนาคารเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ ได้ที่สปส.กรุงเทพฯ และสปส.จังหวัดต่างๆโดยสปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพซึ่งเป็นเงินรายเดือนผ่านธนาคาร 9 แห่ง ที่ลงนามความร่วมมือกับสปส. ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

"สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพล่าช้าออกไป 2 เดือน เนื่องจากต้องรอนายจ้างจ่ายเงินสมทบงวดสุดท้ายและใช้เวลาคำนวณเงินสิทธิประโยชน์พร้อมผลตอบแทน โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพในเดือนธันวาคม 2556 สปส.จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับเงินบำนาญภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนมีปัญหานายจ้างเก็บเงินสมทบจากลูกจ้างไปแล้ว ไม่ยอมนำส่งเงินสมทบให้สปส.หรือนายจ้างจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างไม่ครบ 180 เดือนตามเงื่อนไข สปส.ขอตรวจสอบข้อมูลก่อนและขอให้ผู้ประกันตนนำหลักฐานมายืนยัน เช่น สลิปเงินเดือน หรือนำพยานบุคคลซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานมายืนยัน แต่แม้ผู้ประกันตนไม่มีหลักฐานยืนยัน ถ้าตรวจสอบพบว่าเป็นความจริง สปส.ยืนยันจะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนโดยครบถ้วนตามสิทธิ" เลขาธิการสปส.กล่าว ทว่า ย่อมมีข้อกังขาจากผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพว่าหากเสียชีวิตแล้วยังมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งข้อสงสัยนี้ "เลขาธิการสปส." แจกแจงว่า กรณีผู้ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินชราภาพ สปส.จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับก่อนถึงความตายให้แก่สามี ภรรยา บิดา มารดาหรือบุตรของผู้รับเงินบำนาญชราภาพในจำนวนที่เท่ากันและกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพไม่มีทายาทหรือญาติก็ให้ทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

สำหรับทิศทางการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในอนาคตนั้น นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.)ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) มองว่าควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปีมีสิทธิเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพโดยสปส.จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพในปีพ.ศ. 2557 เป็นปีแรก จึงได้ส่งแบบสำรวจความเห็นผู้ประกันตนว่าต้องการจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งคาดว่าสปส.จะสรุปผลสำรวจนี้ได้ในช่วงเดือนมีนาคม และจะนำข้อมูลนี้ไปหารือในบอร์ดสปส.ว่าควรจะแก้ไขกฎหมายประกันสังคมโดยเพิ่มเติมว่าให้สิทธิผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญหรือไม่

"หากบอร์ดสปส.เห็นด้วยก็ต้องแก้ไขกฎหมายประกันสังคม แต่คงเป็นเรื่องระยะยาวเพราะผมจะเสนอต่อ รมว.แรงงานคนใหม่ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรียืนยันร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเดิมที่ผ่านสภาชุดที่แล้วในวาระที่ 1 ไปก่อน เนื่องจากมีหลายประเด็นที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น การกำหนดให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 เป็นประจำทุกปี ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีทายาท คู่สมรส หรือญาติรับสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพแทน โดยผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือให้ผู้ใดก็ได้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์นี้แทนหากเสียชีวิต แต่ถ้าไม่ทำหนังสือระบุไว้ก็ให้เป็นมรดกแก่ทายาท" นายจีรศักดิ์ กล่าว    

แนวคิดประธานบอร์ดสปส.เป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้วางแผนชีวิตในอนาคตได้ ต้องเอาใจช่วยให้เกิดผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ก็ขอให้ผู้ประกันตน อย่าลืมยื่นเรื่องรับเงินชราภาพกันก่อนเน้อ !!

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 17 มกราคม 2557