ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ้านเมือง - รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการทำประชาพิจารณ์และปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมทั้งกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการเครือข่ายห้องปฏิบัติการร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งมีศักยภาพในการตรวจยืนยันเชื้อ สารเคมี การระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำต่างๆ อย่างถูกต้องตามหลักสากลว่าสิ่งสำคัญสำหรับห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขไม่ว่าจะในโรงพยาบาล นอกโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งเอกชน คือ ต้องมีความสามารถในการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยผลการตรวจจะต้องมีมาตรฐาน และสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ แต่ในปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวกับการบริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดมาตรฐาน ระบบ และกลไกในการกำกับดูแลอย่างครอบคลุมโดยเฉพาะ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขขึ้น โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้จะพูดถึงมาตรฐานของตัวห้องปฏิบัติการ ศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์ว่าแต่แห่งต้องตรวจด้วยวิธีอะไร มีค่าปกติอยู่ที่เท่าไหร่ รวมถึงการดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่ง ISO จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งจะต้องนำมาใช้ แต่ยังไม่ได้ถูกกำหนดว่าทุกห้องปฏิบัติการจะต้องมี เพราะฉะนั้นห้องปฏิบัติการบางแห่งก็อาจจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ

"พ.ร.บ.ห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ได้มีการจัดประชาพิจารณ์ครั้งนี้จะทำให้ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งตรวจยืนยันเชื้อ สารเคมี การระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำต่างๆ อย่างถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษา สร้างเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค และคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานเท่าเทียมกัน"

รศ.คลินิก พญ.วารุณี กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2554 และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-2558 (แผนนิติบัญญัติ) ซึ่งในเดือนกันยายน 2557 จะต้องเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้จัดประชุมแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งทบทวนแนวความคิดร่วมกับห้องปฏิบัติการจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รวมทั้งห้องปฏิบัติการของภาคเอกชนต่างๆ และจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557