ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่า เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในเด็กนักเรียนอายุ 6 – 12 ปี ในปี 2555 พบว่า นักเรียนมีภาวะอ้วนจำนวน 187,000 คน เตี้ย จำนวน 254,620 คน  และผอม จำนวน 99,112 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะเด็กนักเรียนที่เตี้ยและผอม จะมีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทาน  โรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบว่า การบริโภคอาหารที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างแคลเซียมยังน้อยอีกด้วย โดยเฉพาะการดื่มนมซึ่งคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละ 14 ลิตรต่อปี  ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก 4-7 เท่า ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปี มีความสูงเฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย โดยผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร  

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก เนื่องจากร้อยละ 99  ของแคลเซียมอยู่ที่กระดูกและฟัน แต่การที่ร่างกายจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความสูงนั้นนอกจากเกิดจากกรรมพันธุ์แล้ว การเจริญเติบโตด้านความยาวของกระดูก อาหารและการออกกำลังกายก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งสารอาหารที่สร้างความแข็งแรงของกระดูกมีหลายชนิด เช่น โปรตีน ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า  ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันตามช่วงอายุ คือ เด็กอายุ 1–3 ปี   ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 500 มิลลิกรัม อายุ 4–8 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัม อายุ 9 – 18 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม  โดยอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ อาหารประเภทนม เช่น นมจืด 1 กล่อง (200 มิลลิกรัม)  มีแคลเซียม 226 มิลลิกรัม นมพร่องมันเนย 1 กล่อง (200 มิลลิกรัม) มีแคลเซียม 246 มิลลิกรัม โยเกิร์ต 1 ถ้วย (150 กรัม)   มีแคลเซียม 160 มิลลิกรัม นมเปรี้ยว 1 ถ้วย (180 มิลลิลิตร) มีแคลเซียม 106 มิลลิกรัม อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น  ปลาตัวเล็กตัวน้อย (2 ช้อนกินข้าว) มีแคลเซียม 226 มิลลิกรัม ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (2ช้อนกินข้าว)  มีแคลเซียม 226 มิลลิกรัม อาหารประเภทผัก เช่น ผักคะน้า (1 ทัพพี) มีแคลเซียม 71 มิลลิกรัม ผักกาดเขียว (1 ทัพพี) มีแคลเซียม 96 มิลลิกรัม ผักกวางตุ้ง (1 ทัพพี) มีแคลเซียม 60 มิลลิกรัม

“ทั้งนี้ หากร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หักง่าย เป็นตะคริว มือจับเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกและหัวใจเต้นผิดปกติ จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย  เล่นกีฬาประเภทที่สามารถช่วยเพิ่มความสูงและความแข็งแรงของกระดูกได้ เช่น บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล หรือออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที  นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และที่สำคัญการกินอาหารอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกายไม่ทำให้สูงแต่จะทำให้อ้วนแทน หรือออกกำลังกายอย่างเดียวโดยกินอาหารไม่เพียงพอก็จะทำให้ผอมและไม่สูง ดังนั้น การกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเพียงพอจะส่งผลให้ ร่างกายสุขภาพดีและมีส่วนช่วยให้สูงด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด