ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฐานเศรษฐกิจ - กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยกินลูกพลับ มะละกอ สับปะรด และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวขณะท้องว่าง มีผลทำให้ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร แนะนำให้กินในปริมาณที่เพียงพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยควบคุมน้ำหนักด้วย

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า มีประเด็นกล่าวว่าการกินผลไม้ก่อนอาหารจะช่วยให้ร่างกายการดูดซึมสารต่าง ๆ ในผลไม้ที่ให้คุณค่าอย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่เป็นหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนว่าการกินผลไม้ตอนท้องว่างจะช่วยในการดูดซึมได้ดีขึ้น มีเพียงข้อแนะนำในการเลือกกินผลไม้ให้เหมาะสม เพราะผลไม้บางชนิดก็ไม่ควรกินตอนท้องว่าง เช่น ลูกพลับ เพราะกระเพาะอาหารจะหลั่งกรดออกมามาก หากไปรวมตัวกับยางและสารแขวนลอยในลูกพลับแล้วจะทำให้คลื่นไส้ และระคายเคืองในกระเพาะอาหาร มะละกอ ไม่ควรกิน ตอนท้องว่างเพราะเป็นผลไม้ที่มีเอนไซม์มาก สับปะรด ส้ม มะนาว มีรสชาติเปรี้ยวทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ แต่ถ้าจะกินก่อนกินอาหารแค่ 2-3 ชิ้นเล็ก ๆ ก็พอจะกินได้ แต่ควรล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อเป็นการลดสารเคมีตกค้าง

การกินผลไม้ให้ได้คุณค่าแต่ละครั้ง ควรคำนึงถึงปริมาณที่เพียงพอมากกว่าช่วงเวลา โดยในหนึ่งวันควรกินผลไม้ให้ได้มื้อละ 1-2 ส่วน ตามแต่ละประเภท เช่น มะละกอสุก 6 ชิ้นพอคำ เงาะ 4 ผล ฝรั่งครึ่งผล สับปะรด 6 ชิ้นพอคำ กล้วยน้ำว้า 1 ผล ชมพู่ 2 ผลขนาดใหญ่ มังคุด 4 ผลขนาดกลาง ส้มสายน้ำผึ้ง 1 ผล เป็นต้น ซึ่งจากรายงานทางคลินิกและระบาดวิทยาพบว่า การกินผลไม้เป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และป้องกันมะเร็งบางชนิด รวมทั้งทำให้ระบบขับถ่ายปกติ และช่วยควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากในผลไม้มีใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำ เมื่อกินเข้าไปจะเกิดการ พองตัวเป็นเจลแทนพื้นที่บางส่วนในกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกอิ่ม อีกทั้งยังกักน้ำตาลและคอเลสเตอรอล จึงลดการ ดูดซึม ดังนั้นเมื่อกินผลไม้ตอนท้องว่างทำให้รู้สึกอิ่มส่งผลให้กินอาหารมื้อหลักหลังจากนั้นในปริมาณที่ลดลงตามไปด้วย

"นอกจากนี้ ในผลไม้ยังมีใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเร่งให้อาหารที่กินเข้าไปผ่านไปตามทางเดินอาหารได้เร็วขึ้น ทำให้ขับถ่ายได้เร็ว ช่วยลดการดูดซึมหรือสัมผัสสารมะเร็งที่ปนเปื้อนเข้ามาและเพิ่มมวลอุจจาระ ลดปัญหาท้องผูก ทั้งนี้ ควรกินผลไม้ให้หลากหลายสลับกันไป เพื่อให้ร่างกาย ได้รับสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์อย่างสมดุล” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ที่มา: http://www.thanonline.com