ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - ขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องตระหนักและเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต "โครงการวิจัยแนวทางการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย" ซึ่งการเคหะฯ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ นับเป็นโครงการหนึ่งที่จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นถึงแนวทางในการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งยังเป็นการจุดประกาย ให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของ "ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย" พร้อมช่วยกันขับเคลื่อนให้สามารถเข้าสู่ "สังคมสวัสดิการ" ได้อย่างเป็นรูปธรรม"กฤษดา รักษากุล" ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยแนวทางการให้ความช่วยเหลือเรื่อง ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย  จัดทำขึ้นเพื่อหาแนวทางสำหรับการให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งศึกษาและทบทวนบทบาทของกองทุนที่มีการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ตลอดจนศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย อันจะนำไปสู่การปฏิบัติให้สามารถบูรณาการการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุกับหน่วยงานต่างๆ ได้

ผศ.ดร.พรพรรณ วีระปรียากูรหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ควรได้รับการจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัยจากการเคหะแห่งชาติเป็นประชาชนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุไว้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/เทศบาล/เขต อีกทั้งยังคงได้รับสิทธิตามกฎหมายและมีญาติ (ผู้ดูแลอย่างน้อย 1 คน) มีรายได้หรือความสามารถในการหารายได้ หรือมีบำเหน็จบำนาญหรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนประกันชีวิตตามมาตรา 40 หรือกองทุนการออมแห่งชาติ เฉลี่ยรายได้ระหว่าง 600-15,834 บาทต่อเดือน (ตามนัยของหลักประกันทางเศรษฐกิจยามชราภาพผ่านมาตรการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรมสรรพากร)

จากผลสำรวจความต้องการและปัญหาด้านเงินเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจำนวน 513 คน ในพื้นที่ 17 จังหวัด พบว่า ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ต้องการปรับปรุง ตกแต่งภายในตัวอาคารบ้านเรือนเพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าการสร้างใหม่ ซึ่งอุปกรณ์ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุควรได้มาตรฐานและครบตามความจำเป็น ได้แก่ พื้นใช้วัสดุไม่ลื่น ผนังห้องเรียบไม่ขรุขระ มีราวจับในห้องน้ำ หรือทางเดิน เป็นต้น

ส่วนการใช้งานพื้นที่ภายในบ้าน ผู้สูงอายุควรเป็นผู้กำหนดด้วยตนเอง นอกจากนี้ต้องการให้รัฐปรับปรุงเพิ่มเติม ต่อเติมบ้านให้ฟรี หากมีที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ หรือรัฐสร้างบ้านเดี่ยวชั้นเดียวให้ในพื้นที่ส่วนบุคคลของตนเองในลักษณะให้เปล่าหรือราคาถูก อย่างไรก็ตาม ลักษณะการออกแบบที่อยู่อาศัยควรเน้นหลักการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยร่วมกับหลักการอารยสถาปัตย์

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย การเคหะแห่งชาติสามารถดำเนินการในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติได้ 2 แนวทาง คือ แนวทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย (โครงการใหม่) โดยจัดสร้างโครงการในที่ดินของการเคหะแห่งชาติหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือที่ดินของผู้สูงอายุ รวมถึงการปรับปรุง/พัฒนาที่อยู่อาศัยเดิมของการเคหะแห่งชาติเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย (กรณีผู้สูงอายุไม่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง หรืออาศัยร่วมอยู่ในที่อยู่อาศัยเก่าประเภทเช่าหรือเช่าซื้อของการเคหะแห่งชาติ)

อีกแนวทางหนึ่ง คือ แนวทางการจัดการปัญหารายได้ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย มี 3 รูปแบบได้แก่ การจัดสรรการออมต่อจากเบี้ยยังชีพหรือบำเหน็จบำนาญ จะต้องหักเปอร์เซ็นต์เพื่อการออมเพื่อให้ซื้อหรือเช่าซื้อที่อยู่อาศัยได้ตามโครงการที่ท้องถิ่นหรือชุมชนกำหนด เช่น โครงการออมวันละบาท โครงการกองทุนประกันการชราภาพ เป็นต้น การจัดสรร "การลงทุนร่วม" ระหว่างการเคหะแห่งชาติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาคเอกชน มี 2 กรณี ได้แก่ กรณีเน้นการปรับปรุงซ่อมแซม อาจพิจารณาจากเงินช่วยเหลือ 10,000-20,000 บาท กรณีเน้นการสร้างโครงการใหม่อาจจะพิจารณาจากการเสนอโครงการ ต่อสำนักงบประมาณ

สุดท้ายคือ การจัดตั้งแหล่งทุนของตนเอง (เพื่อที่อยู่อาศัย) หรือปรับปรุงหรือพัฒนากองทุนสวัสดิสงเคราะห์ที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติที่มีอยู่เดิม หรืออาจจัดตั้งใหม่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น สหกรณ์ ธนาคาร แต่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2537 และ/หรือตามนโยบายของผู้ถือหุ้น/ภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ

นอกจากนี้ บทบาทของการเคหะแห่งชาติสามารถดำเนินงานได้ 3 บทบาท ได้แก่ บทบาทแรก ในฐานะ ผู้ริเริ่มโครงการในลักษณะ "โครงการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย"เน้นสวัสดิการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในระดับประเทศ (ต้นแบบของประเทศไทย) บทบาทที่ 2 ในฐานะผู้ประสานงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีที่อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย

ส่วนบทบาทสุดท้าย ในฐานะผู้ให้องค์ความรู้/จัดการความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย หารือภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยเก่า หรือสร้างใหม่ หรือปรับปรุงจากเดิม ซึ่งการเคหะแห่งชาติต้องคำนึงถึงความเป็นครอบครัวของผู้สูงอายุ รวมถึงชุมชนและท้องถิ่นของผู้สูงอายุเป็นหลักด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 4 มีนาคม 2557