ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - สธ.เผยปี 2568 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกว่า 14 ล้านคน ระบุปี 52 กว่า 1 ล้านคนสุขภาพไม่ดี อยู่ลำพัง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุม เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ จัดโดยสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 9.4 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน คาดว่าภายในปี 2568 ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จำนวนผู้สูงอายุจะมี 14.4 ล้านคน ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือ จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ผลการศึกษาปัญหาการเจ็บป่วยจากการตรวจร่างกายของผู้สูงอายุไทยล่าสุดในปี 2552 โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ปรากฏว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 6 ล้านคน ที่สามารถดูแลตนเองได้ และมีผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ติดบ้าน ต้องพึ่งพิงคนอื่นช่วยดูแลกว่า 1 ล้านคน ช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน มี 9.6 แสนคน และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย อีก 6.3 หมื่นคน โรคเรื้อรัง 5 อันดับ ที่พบมากในผู้สูงอายุ คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และโรคข้อเสื่อม

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 ที่สายตาไม่ดี มองเห็นไม่ชัดเจน และเกือบครึ่งหนึ่ง มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร เนื่องจากเหลือฟันแท้ในปากไม่ถึง 20 ซี่ ที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มผู้สูงอายุอยู่คนเดียวหรืออยู่ลำพังเพิ่มมากขึ้น 2 เท่าตัว จากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2550 จึงต้องเร่งพัฒนาระบบการดูแลที่เหมาะสมทั้งการดูแลในโรงพยาบาล การดูแลในชุมชน การดูแลที่บ้าน การชะลอความเสื่อมร่างกาย โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาฟื้นฟูผู้สูงอายุนั้น มีความแตกต่างจากประชาชนทั่วไป ทั้งลักษณะอาการป่วย การตรวจวินิจฉัยโรค เพราะร่างกายอยู่ในวัยเสื่อม เสี่ยงบาดเจ็บ พิการ อาจเสียชีวิตได้ง่ายกว่าวัยอื่น

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ 39 ล้านบาท พัฒนาระบบการดูแล 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โดยเน้นที่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกว่า 8,000 แห่งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพัฒนาบุคลากรดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุในหมู่บ้านชุมชน ประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อดูแลที่เหมาะสม โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุคล้ายคู่มือการดูแลเด็กแรกเกิด เพื่อดูแลอย่างต่อเนื่อง ใช้ได้ทั่วประเทศ อยู่ระหว่างการประเมินผล 2.พัฒนาระบบบริการสุขภาพเชื่อมโยงจากสถานพยาบาลสู่ชุมชน เช่น การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน และ 3.ส่งเสริมให้ชุมชน ท้องถิ่นมีระบบการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การสร้างตำบล/อำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว

ที่มา --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--