ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรอบ 3 วันเทศกาลสงกรานต์ ตรวจในพื้นที่ 10 จังหวัด สายเหนือ อีสาน ใต้และกทม. ตรวจรวม 439 ราย พบกระทำผิดและลงโทษ 137 ราย ฐานความผิดอันดับ 1ได้แก่การโฆษณาส่งเสริมการขาย จำนวน 102 ราย รองลงมาการขายลดแลก แจกแถม ขายในที่ห้ามขาย ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ปรับ ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป พร้อมกำชับ อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต.ตั้งด่านสกัดคนเมาในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

วันนี้ (13 เมษายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจติดตามการจัดบริการผู้เจ็บป่วยจากอุบัติเหตุจราจร และป่วยฉุกเฉิน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่รพ.เกาะคา รพ.สบปราบ รพ.เถิน รพ.แม่พริก จังหวัดลำปาง รพ.บ้านตากและรพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจังหวัดตาก ว่า ปัญหาความเสี่ยงสำคัญที่พบในกลุ่มผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงฉลองสงกรานต์นี้ เกิดมาจากการดื่มสุราถึง1 ใน 3 ของสาเหตุทั้งหมด จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเถิน ได้รับรายงานจากแพทย์ พยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน ว่าผู้บาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ร้อยละ 80-90 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพสามิต ควบคุมร้านค้า ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 อย่างเข้มงวด และให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)และอสม.ตั้งด่านสกัดคนเมาในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันการสูญเสียอย่างเต็มที่

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินในรอบวันที่11-12 เมษายน 2557 ในภาพรวมทั้งประเทศทีมแพทย์กู้ชีพออกปฏิบัติการตรวจรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรรวม2,301 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บ จึงขอความมือประชาชนหากพบอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บ ขอให้โทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพที่หมายเลข 1669 ทันที เพื่อป้องกันความพิการและเสียชีวิตจากการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี

ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการออกตรวจสอบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรอบวันที่ 10 -12 เมษายน 2557 ได้ตรวจสอบทั้งหมด 439 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัดคือ ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช เลย ขอนแก่น เชียงใหม่ ลำพูน จันทบุรี และกรุงเทพมหานคร พบกระทำผิดเล็กน้อยและได้ตักเตือน แจ้งให้แก้ไขให้ปฏิบัติให้ถูกต้องจำนวน 302ราย และดำเนินคดี 137 ราย ฐานความผิดที่พบมากที่สุดคือการโฆษณาสื่อสารการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 102 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา รองลงมาได้แก่ ขายในเวลาห้ามขายจำนวน 19 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ขายด้วยวิธีการต้องห้าม เช่น ลด แลก แจก แถม จำนวน 10 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย เช่นในปั้มน้ำมัน ในวัด จำนวน 8 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพบการลักลอบขายให้เด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่หามขายคือต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 2 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งบางรายอาจทำผิด 2 เรื่อง

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จำนวน 5 สาย ในเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งที่บริเวณริมฟุตบาท โดยตั้งเป็นซุ้มจำหน่าย ในงานเทศกาลสงกรานต์ จัดโดยเทศบาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2557 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงไปทำการตรวจสอบแล้ว

ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการออกตรวจสอบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า มีคดีที่น่าสนใจ คือมีการจัดกิจกรรมสื่อสารการตลาดประเภทมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง( Music Marketing) เข้าข่ายการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน โดยมีการจัดคอนเสิร์ตพ่วงขายและโฆษณาเบียร์ด้วย โดยมีป้ายโฆษณาตลอดทางก่อนถึงจังหวัด และในเขตตัวเมือง

ทั้งนี้ขณะเข้าไปตรวจสอบที่ด้านหน้าของบริเวณจัดงาน พบว่ามีทั้งการโฆษณา และกิจกรรมเล่นเกมส์โดย พริตตี้ที่สื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน เมื่อเข้าไปในงานพบว่าเป็นลานเบียร์เต็มรูปแบบพบสื่อโฆษณาเบียร์ทั้งที่เวที เต็นท์ เสื้อผ้าของพนักงาน อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ประกอบการขายเบียร์ และสื่อต่างๆที่บูทขายทั่วทั้งงาน โดยมีบูทขายเบียร์ประมาณ 10 แห่ง มีพนักงานให้บริการนับร้อยคน จากการสอบถามพนักงานทุกคนบอกว่าไม่ขอดูบัตรก่อนขายเบียร์ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีใครพกมาเล่นน้ำสงกรานต์ และสามารถขายได้จนเลิกงานคือเวลาตีหนึ่ง ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายชัดเจนเพราะต้องหยุดขายก่อนเที่ยงคืน