ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข  เผยโรคความดันโลหิตสูง เป็นเพชฌฆาตเงียบเล่นงานคนไทยหนัก ขณะนี้มีคนไทยป่วยเกือบ 11 ล้านคน ปี 2556 เสียชีวิต 5,165 คน และพบป่วยรายใหม่เพิ่มเกือบ 1 แสนคน ร้อยละ 50 ไม่รู้ตัวเพราะไม่เคยตรวจสุขภาพ ในกลุ่มที่ป่วยแล้วพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ที่ควบคุมความดันได้ ที่เหลือยังมีพฤติกรรมน่าห่วง ทั้งขาดวินัยการกินยา กินอาหารรสเค็ม มีกิจกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทำให้เสี่ยงเกิดโรคแทรกตามได้อีกหลายโรค โดยเฉพาะโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ย้ำเตือนประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี เพิ่มการกินผักผลไม้รสหวานน้อย งดอาหารเค็ม มัน ออกกำลังกายสลัดไขมันทิ้ง อย่าปล่อยตัวให้อ้วน หยุดบุหรี่ สุรา

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 17 พฤษภาคมทุกปี สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตื่นตัวในการดูแลและป้องกันโรคนี้ เนื่องจากโรคดังกล่าว มีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแข็งขึ้น เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆโดยได้น้อยลง จะเป็นสาเหตุการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตซึ่งเกิดจากเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวาย ตามมาได้อีก โดยในปีนี้ กำหนดคำขวัญว่า ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่ (Know Your Blood Pressure) เพื่อให้รู้ความผิดปกติของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ           

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนอายุสั้น ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1,000 ล้านคน เสียชีวิตปีละเกือบ 8 ล้านคน เฉลี่ยประมาณนาทีละ 15 คน โดย 1 ใน 3 พบในวัยผู้ใหญ่ และคาดว่าในปี พ.ศ.2568 ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งโลกจะป่วยเป็นโรคนี้เพิ่ม 1,560 ล้านคน ส่วนในไทยแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผลการสำรวจสุขภาพโดยตรวจร่างกายครั้งล่าสุดในปี 2551-2552 พบประชาชนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูงเกือบ 11 ล้านคน สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือผู้ที่เป็นประมาณร้อยละ 50 ไม่เคยรู้ตัว เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน พบในผู้ชายมากถึงร้อยละ 60 และยังพบด้วยว่าผู้ที่เป็นโรคร้อยละ 8-9 ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรง ส่วนในกลุ่มที่ได้รับการรักษามีเพียง 1 ใน 4 ที่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดี  

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายควบคุมโรคนี้ โดยให้ทุกพื้นที่ตรวจคัดกรองโรคความความดันโลหิต และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี จากการตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 23 ล้านกว่าคนทุกปี ในปี 2556 พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 90,564 คน ซึ่งพบทั้งคนที่มีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติในปี 2555 และคนปกติ และดำเนินการให้ความรู้ในการควบคุมป้องกันโรค แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มคนปกติ กลุ่มที่มีความเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วยแล้วเพื่อดูแลให้เหมาะสม หัวใจสำคัญคือ1.ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เน้นการปรับพฤติกรรมออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว ลดอาหารเค็ม หวาน มัน เพิ่มผักผลไม้สดรสหวานน้อย และ2.ดูแลไม่ให้ผู้ที่ป่วยแล้วมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไตตามมา โดยในปี 2557 นี้ ได้ขยายบริการผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เข้าถึงง่าย ใกล้บ้าน ตั้งเป้าจำนวนผู้ป่วยที่ควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 หากทำได้ดีก็จะลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนลงได้       

ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ส่วนใหญ่โรคนี้จะไม่มีอาการเตือน จึงถูกเรียกว่า“เพชฌฆาตเงียบ” อาการที่อาจพบได้ เช่น ปวดมึนที่บริเวณท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบตุบ หากเป็นมานานหรือระดับความดันสูงมากๆ จะมีเลือดกำเดาไหล ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หอบเหนื่อย หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในปี 2553 พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 52 ตรวจวัดความดันโลหิตทุกเดือน ร้อยละ 16 ไม่ลดการกินอาหารเค็มและกินอาหารที่มีไขมันสูง ร้อยละ 18 ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ร้อยละ 23 ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ที่สำคัญยังพบว่ามีผู้ป่วยร้อยละ 37 ยังสูบบุหรี่เหมือนเดิม และร้อยละ 39 ไม่เลิกดื่มเหล้า นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 8 กินยาควบคุมความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมากกว่า 20 กินยาแผนจีน แผนไทย สมุนไพรควบคุมความดันโลหิตด้วย ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ป่วยจำนวนมากยังปฏิบัติตนไม่เหมาะสมส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ข้อแนะนำในการสร้างวินัยการควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย คือจะต้องกินยาควบคุมความดันโลหิตอย่างตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ควรจะตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หากมีเครื่องวัดความดันโลหิตอยู่ที่บ้าน หรือในชุมชน อาจวัดความดันโลหิตบ่อยขึ้น ควรวัดในช่วงเช้าหรือช่วงค่ำก่อนนอน และวัดในเวลาเดียวกันทุกครั้ง จดบันทึกค่าวความดันโลหิตเพื่อเป็นข้อมูลแก่แพทย์ผู้รักษาในการปรับลดการจ่ายยาควบคุมความดันให้เหมาะสม และที่สำคัญต้องปรับพฤติกรรม ลดอาหารรสเค็ม ลดอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารจานด่วนซึ่งมีปริมาณเกลือไขมัน และน้ำตาลสูง รวมทั้งต้องควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เพิ่มกิจกรรมทางกาย งดบุหรี่ สุรา