ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. กำชับหน่วยงานในสังกัด/โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดพร้อมรับมือ ภายหลังกระทรวงพลังงานประกาศเตือนให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อม กรณีมีแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งอาจส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะต้องหยุดเดินเครื่องหากเกิดเหตุขัดข้องกับระบบส่งไฟฟ้า ขอให้ประชาชนมั่นใจ โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว มีระบบไฟฟ้าสำรอง ไม่กระทบการให้บริการ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่กระทรวงพลังงานประกาศเตือนให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อม เนื่องจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมขาติ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แห่งที่ A18 เพื่อติดตั้งแท่นอุปกรณ์ขยายกำลังส่ง ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เป็นเวลา 28 วัน อาจส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ต้องหยุดเดินเครื่องหากเกิดเหตุขัดข้องกับระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริการของโรงพยาบาลได้นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว

เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับหน่วยงาน ในสังกัด ในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด มีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งสิ้น 153 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 6 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 13 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 134 แห่ง เตรียมแผนรับมือ โดยตรวจสอบความพร้อมของระบบสำรองไฟฟ้า สำรวจระบบไฟฟ้าภายในโรงพยาบาล หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเติมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้เพียงพอ ให้ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 3 วัน และให้มีการทดลองเดินเครื่องให้พร้อมใช้งานทันที โดยเฉพาะหน่วยบริการที่ต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน หอผู้ป่วยใน ตู้เก็บรักษาเลือด-วัคซีน คลังยาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงพลังงาน เช่น ปิดไฟในบริเวณที่ไม่ใช้งาน หรือให้เปิดเฉพาะบริเวณที่จำเป็นเท่านั้น ควรปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ที่ 26 องศาเซลเซียส หรือปิดในช่วงเวลา 18.30-22.30 น. ซึ่งเป็นช่วงมีการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดของวันในพื้นที่ภาคใต้ ปิดหรือถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ให้ใช้งาน ทั้งนี้ ได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 11และเขตที่ 12 ที่ดูแลรับผิดชอบการสนับสนุนหน่วยงาน และสถานบริการสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ ได้มีการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมเข้าไปแก้ไขปัญหาหากโรงพยาบาลในสังกัดได้รับผลกระทบดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง