ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอวชิระ เผย ไม่เคยเห็นเอกสารเสนอประชาชนร่วมจ่าย 30-50% ไม่แน่ใจเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ คาดคงมีผู้ไม่หวังต้องการสร้างกระแสโจมตีปลัดสธ.และกระทรวง เผยที่ประชุม 31 พ.ค.ที่ผบ.ทร.มานั้น ไม่เคยมีข้อเสนอเรื่องนี้ ยืนยันสธ.ไม่เคยมีแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายแน่นอน ด้านเลขาธิการสปสช.แจงไม่ทราบใครเป็นผู้เสนอ แต่ถ้าให้ร่วมจ่าย ประชาชนต้องแย่แน่ๆ และคงต้องล้มละลายเพราะต้องจ่ายค่ารักษาเหมือนตอนก่อนที่จะมี 30 บาท

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

12 ก.ค. ภายหลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวว่านพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วยหน้า (บัตรทอง) ร่วมจ่ายสมทบในอัตรา 30-50 % นั้น นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ณรงค์ ไม่มีความคิดเรื่องการให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบเลย และยืนยันว่าไม่เคยมีการเสนอเรื่องนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่ คสช.มาเยี่ยมที่ สธ.นั้นได้เชิญ สปสช. สวรส. มาร่วมประชุมด้วย และมีผู้อภิปรายว่ากระบวนการการเงินที่จ่ายให้กับประชาชนระยะยาวจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่ที่ประชุมเพียงแต่รับทราบ และไม่ได้มีมติใดๆ ต่อเรื่องนี้ ส่วนเรื่องตัวเลขที่เป็นข่าวว่าให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย 30-50% นั้นไม่ทราบว่ามาได้อย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่ามีการจัดทำขึ้นมา เพราะตนในฐานะที่เป็นผู้ตรวจรายงานการประชุมยืนยันว่าไม่เคยเห็นเรื่องนี้มาก่อน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารทำปลอมหรือไม่ ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้ในอนาคต ในยุคนี้ก็ไม่มีแนวคิดเสนอนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายอย่างแน่นอน

“เรื่องร่วมจ่ายไม่เคยมีในหัวคิดกันเลย มีแต่คิดว่าจะจัดระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพอย่างไร เงินจะถูกนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนอย่างไร การเงินจะยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างไรในระบบการเงินที่มั่นคง ส่วนตัวเลขมาอย่างไรนั้นไม่ทราบ เอามาจากไหนไม่รู้ ใครบางคนต้องการสร้างกระแสโจมตีกระทรวงหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ แต่เขาไม่หวังดีกับกระทรวงสาธารณสุขและท่านปลัดอย่างแน่นอน” นพ.วชิระ กล่าว

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เสนอ แต่ที่ผ่านมาปลัด.สธ.จะเป็นผู้เสนอภาพรวมของงานด้านสาธารณสุขเพียงคนเดียว ส่วนตัวเห็นว่าเห็นว่าหากให้ประชาชนร่วมจ่ายถึง 50% ประชาชนแย่แน่ๆ ต้องแบกภาระค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเบาหวาน ไตวาย มะเร็ง ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ซึ่งในอดีตบางครอบครัวต้องขายไร่ ขายนา ขายวัว ขายควายเพื่อนำเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่ระบบบัตรทองก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากการรักษาสุขภาพตรงนี้ ซึ่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากการต้องแบกภาระจ่ายค่ารักษาพยาบาล 7-8 หมื่นครอบครัวต่อปี ถ้าร่วมจ่าย ประชาชนคงต้องกลับไปล้มละลายเหมือนเมื่อครั้งที่ยังไม่มี 30 บาทหรือบัตรทองแน่นอน