ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เน้นพัฒนา "ความมั่นคงด้านวัคซีน" สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน เผย ไทยจัดบริการวัคซีนพื้นฐานแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมเกินร้อยละ 90

24 ก.ค. 57 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2557 ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างมากในระดับนานาชาติ ว่าสามารถจัดให้บริการวัคซีนพื้นฐานแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้วัคซีนพื้นฐานในกลุ่มเป้าหมาย มีความครอบคลุมเกินร้อยละ 90 นอกจากนี้ทางกรมควบคุมโรค โดยคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้ร่มของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กำลังจะมีการบรรจุวัคซีนใหม่ที่จำเป็นเพิ่มขึ้น เพื่อลดการป่วย การตาย ของคนไทย

ทั้งนี้ มีการจัดทำเป็นโครงการระดับชาติ หรือที่เรียกว่า "โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค" ได้แก่

1. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV Vaccine) เพื่อป้องกันหญิงไทยป่วยและตายจากโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะปัจจุบันมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ปีละกว่า 3,000 คน ปี 2557 นี้ ได้เริ่มนำร่องฉีดวัคซีนนี้แล้ว ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

2.วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก กรมควบคุมโรคได้นำร่องการให้วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วง ในเด็กเล็กที่ จ.สุโขทัย มากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งทางคณะทำงานกำลังพิจารณาว่าควรขยายการใช้วัคซีนชนิดนี้ไปทั่วประเทศหรือไม่ และจะขยายกลุ่มเป้าหมายผู้รับวัคซีนไปสู่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุด้วยในอนาคต

3.ในปีนี้กรมควบคุมโรคได้ผลักดันให้มีการให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยักในผู้ใหญ่เป็นการประจำ 10 ปี/ครั้ง เพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ใหญ่ให้อยู่ในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ ซึ่งในปัจจุบันโรคคอตีบ เริ่มมีการระบาดและ?ป่วยในผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น

4.การผลักดันให้มีการใช้วัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนอื่นที่มีความสำคัญสำหรับกลุ่มนี้

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการผลิตวัคซีนภายในประเทศอย่างชัดเจน โดยมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (กวช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ต่อมาในปี พ.ศ.2548 มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติที่เสนอโดย กวช. เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนในประเทศตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เพื่อการพึ่งตนเองและความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ การประกาศให้การพัฒนาและการผลิตวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนได้มีการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางด้านวัคซีน ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัคซีนของประเทศ

นอกจากนี้ แนวคิดสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ "การพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน" เนื่องจากการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นการเพิ่มศักยภาพ โอกาส อำนาจต่อรอง ตลอดจนการแข่งขันของอาเซียนในประชาคมโลก ทั้งในด้านการวิจัย พัฒนา การผลิต และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงควรเน้นความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เพื่อร่วมกันพัฒนาวัคซีนและตอบสนองความต้องการวัคซีนที่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียน มีความมั่นคงด้านวัคซีนในระยะยาวต่อไป

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ?การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากสถาบันวัคซีนนานาชาติ วิทยากรจากต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 31 ท่าน โดยการประชุมแยกเป็นห้องย่อย 3 ห้อง ได้แก่ ห้องนโยบายและยุทธศาสตร์ ห้องวิจัยพัฒนาวัคซีน และห้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หัวข้อบรรยาย จำนวน 16 เรื่อง เป็นภาษาไทย 13 เรื่อง และภาษาอังกฤษ 3 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนา, การนำเสนอผลงานวิชาการแบบบรรยาย, การแสดงนิทรรศการ, การออกบูธของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการแสดงภาพวาด ในหัวข้อ "วัคซีนกับความมั่นคงด้านสุขภาพแบบยั่งยืนของคนไทย" ร่วมด้วย

"สำหรับวัคซีน ถือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งในทางสาธารณสุข มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมและป้องกันโรค ทำให้สามารถลดการป่วยการตาย ด้วยโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก เช่น วัคซีนในอดีตทำให้เราสามารถกวาดล้างโรคผีดาษได้สำเร็จ การกวาดล้างโรคโปลิโอ ก็มีความก้าวหน้าไปมาก คาดว่าจะสำเร็จภายในอนาคตอันใกล้ การใช้วัคซีนในการกำจัดโรคหัด ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนอื่น ๆ เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี เป็นต้น ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วย ตาย และพิการได้เป็นจำนวนมาก

ฉะนั้น ขอแนะนำให้ประชาชน นำบุตรหลานเข้ารับบริการให้วัคซีนตามกำหนดเวลาที่สถานพยาบาลนัดหมายไว้ เพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน หากประชาชนมีข้อสงสัย ติดต่อได้ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) โทร.0 2590 3196-9 หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" นพ.จรุง กล่าว