ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน ฝนชุกและอากาศชื้น ระวังป่วยเป็นโรคปอดบวม มักเกิดตามมาภายหลังจากป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรืออาการไข้อื่นๆ ที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมในรอบ 7 เดือน ปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้วกว่า 1 แสนราย  เสียชีวิต 521 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากป่วยเป็นไข้หวัด 3 วัน ไข้ยังไม่ลด ไอ หายใจหอบ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพที่มีฝนตกชุกในช่วงนี้ทำให้อากาศมีความชื้นสูง อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย โรคที่พบบ่อยและมีอันตรายสูงคือโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน หรือโรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น รายการการเฝ้าระวังโรคปอดบวม โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยทุกจังหวัดรวม 102,194 คน  เสียชีวิต 521 ราย กลุ่มที่ป่วยมากที่สุดคืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปพบร้อยละ 35 รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากร 1 แสนคน สูงสุด คือ อ่างทอง รองลงมา คือ พะเยา ศรีสะเกษ เพชรบุรี และอุบลราชธานี

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนในการดูแลสุขภาพ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเวลานอนกลางคืน หากเปียกฝนให้รีบชำระล้างร่างกาย สระผมและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าทำงานหักโหม ไม่อดนอน เนื่องจากจะทำให้ระดับภูมิต้านทานในร่างกายลดลง และขอให้กลุ่มเสี่ยงสูงหากเจ็บป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 2 ปี 3. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และ 4. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัดและเบาหวาน ให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เพื่อความความเสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และเกิดภาวะปอดบวมแทรกซ้อนตามมา

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงมีรายงานผู้เสียชีวิตมากที่สุด สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่นแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการมักจะเกิดตามหลังป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และอาการไข้อื่นๆ ที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม โดยไข้จะไม่ลด ผู้ป่วยจะไอ มีเสมหะมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย บางครั้งการป่วยในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ต่ำๆ หรือตัวอุ่นๆ และซึมลง ส่วนในเด็กเล็ก อาจจะมีไข้สูง ซึมลง ไม่กินน้ำ กินนม หายใจหอบเร็วหรือหายใจมีเสียงดังหวีด หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม จมูกบานเวลาหายใจเข้า หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้

โรคนี้ติดต่อกันง่ายทางการไอจามรดกัน หรือติดทางการสัมผัสน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มผักและผลไม้ให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม ไอจาม สัมผัสสิ่งของหรือตัวผู้ป่วย ซึ่งการล้างมือจะกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือได้ถึงร้อยละ 80 และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนแออัด เป็นต้น

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ที่สำคัญ ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดเรียน หยุดทำงาน ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม ไม่ซื้อยากินเองโดยเฉพาะยาแก้ไอให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากในยาแก้ไอจะมีฤทธิ์กดอาการไอ ทำให้เสมหะและเชื้อโรคที่อยู่ในเสมะหะคั่งอยู่ในถุงลมปอด ทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ผู้ป่วยจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ จะช่วยให้เสมหะอ่อนตัว และขับออกมาง่าย และเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคในปอดได้ด้วย ในการสังเกตอาการหอบในเด็กที่ป่วย สามารถดูได้จากอัตราการหายใจ โดยเด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือนจะหายใจเร็วกว่า 60 ครั้งต่อนาที เด็กอายุ 2-11 เดือนหายใจเร็วกว่า 50 ครั้งต่อนาที เด็กอายุ 1-5 ปีหายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที

ทั้งนี้ ปอดทำหน้าที่ในการหายใจ แลกเปลี่ยนอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เมื่อปอดติดเชื้อ เชื้อโรคจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวไปกำจัดเชื้อโรคที่เซลปอด หลอดเลือดจะขยายตัวทำให้เกิดการคั่งของเลือดบริเวณที่อักเสบ ทำให้การระบายอากาศและการแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง เกิดอาการไอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หรือที่เรียกว่า อาการปอดบวมตามมา