ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” ชื่นชม “สายด่วน สปสช. 1330” รุกงานคุ้มครองสิทธิ แก้ไขปัญหาร้องเรียน ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ปี 56 มีผู้ใช้บริการสายด่วนถึง 627,216 สาย เป็นการร้องเรียน 4,420 สาย สปสช.แก้ปัญหาภายใน 30 วันได้ถึงร้อยละ 97 ชี้เป็นกลไกสำคัญพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า    

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในระหว่างการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสายด่วน สปสช. 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริการให้ข้อมูลและตอบปัญหาเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า จากที่รัฐบาลมีความตั้งใจทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเป้าหมายสำคัญคือการให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ขณะเดียวกัน สปสช. มีหน้าที่ตามมาตรา 26 (8) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ รับรู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ และได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายและตามมาตรา 41 ในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ และมาตรา 18(4) ในการช่วยเหลือกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขด้วย

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจสร้างผลกระทบได้ทั้งในแง่ความพึงพอใจและความขัดแย้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีช่องทางสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ด้วยเหตุนี้  สปสช.จึงจัดให้มี “สายด่วน สปสช.1330”ขึ้น เพื่อดำเนินงานให้ข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล ให้คำปรึกษาแนะนำ การชี้แจงสิทธิประโยชน์ การับข้อเสนอแนะ และการการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสานให้การช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า งานด้านการคุ้มครองสิทธินอกจากเป็นการคุ้มครองและดูแลประชาชนเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าแล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาและนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้เกิดคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น กรณีปัญหาด้านสูติกรรมหรือจากการคลอดที่ได้มีการนำข้อมูลสะท้อนไปยังสภาวิชาชีพ และราชวิทยาลัยแพทย์จนนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานการจัดการความเสี่ยง เป็นต้น เรียกว่าเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบัน สปสช.ได้ให้บริการสายด่วนจำนวน 60 คู่สาย บริการ 24 ชั่วโมง มีสายเข้าวันละ 1,200-1,500 สาย จากข้อมูลดำเนินงานในช่วงปี 2556 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556) มีผู้ใช้บริการ 627,216 สาย ส่วนใหญ่เป็นสอบถามข้อมูล 612,510 สาย หรือร้อยละ 97.66 ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียน ม.57, 59 จำนวน 4,420 สาย ร้องทุกข์ 6,633 สาย และเรื่องการประสานส่งต่อ 3,653 สาย ทั้งนี้ในส่วนเรื่องร้องเรียน สปสช.สามารถแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จภายใน 30 วันทำการได้ถึงร้อยละ 97 สะท้อนให้เห็นว่า สปสช.ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิอย่างมากและได้ดำเนินการต่อเนื่องในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากช่องทาง 1330 แล้ว สปสช.ยังได้จัดตั้งเครือข่ายทำงานในทุกระดับ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิเพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนอย่างทั่ววถึง อาทิ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ทั้งที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โดยเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคุ้มครอง อาทิ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมไปถึงเป็นสื่อกลางในการลดความขัดแย้งกรณีเกิดปัญหาร้องเรียนขึ้น จึงนับเป็นกระบวนการที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อไป