ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผยตั้งศูนย์อบรมไม้เท้าขาว สำหรับผู้พิการทางสายตาแล้วกว่า 120 แห่งทั่วประเทศ ระบุช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา สามารถใช้ชีวิตภายนอกบ้านได้ใกล้เคียงคนปกติและปลอดภัย 

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 15 ต.ค. ของทุกปีเป็น “วันไม้เท้าขาวโลก” เพื่อรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของผู้พิการทางสายตา ซึ่งไม้เท้าขาวถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิการทางสายตา โดยตั้งแต่ปี 2553 บอร์ด สปสช. ได้มีมติให้ สปสช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานด้านฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นพัฒนาระบบบริการ O&M (Orientation and Mobility) หรือการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหวเพื่อให้คนพิการสายตาได้รับไม้เท้าขาวพร้อมกับการฝึกใช้ โดยการประสานงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลของการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้คนพิการและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
       
“ที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมกับ สธ. จัดทำโครงการฝึกอบรมไม้เท้าขาว มีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2553 - 2558 โดยรับงบประมาณ 705.74 ล้านบาท ในการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการฝึกอบรมในทุกจังหวัดจนครบ 76 จังหวัด ในปี 2556 พร้อมกันนี้ ยังได้ตั้งเป้าแจกไม้เท้าขาวให้คนตาบอดประมาณ 73,710 ราย และฝีกอบรมวิธีการใช้ไม้เท้าขาวให้คนตาบอดหลักสูตรละ 120 ชม. ใช้เวลา 20 วัน เพื่อให้คนตาบอดสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยความปลอดภัย และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไปให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ยังร่วมมือกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดหลักสูตรอบรมครูฝึก และมีสมาคมคนตาบอด สมาคมเวชปฏิบัติต่างๆ มีหน่วยอบรมหลายแห่ง เช่น ศูนย์สิรินธร รวมทั้งกระจายไปพื้นที่ต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
       
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2553 สปสช. มีจำนวนคนตาบอดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 80,548 คน ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 85 ไม่เคยได้รับการฟื้นฟูทักษะด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และการเคลื่อนไหว ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญของกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการทางการมองเห็น นอกจากนี้ คาดว่า ยังมีผู้พิการประมาณ 1 เท่าตัวที่ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ออกค้นหาต่อไป เบื้องต้นจากข้อมูลการดำเนินงานปี 2557 ณ เดือนพฤษภาคม ได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแล้ว 121 แห่ง และอยู่ระหว่างการเดินหน้าฝึกอบรมผู้พิการทางการมองเห็น
       
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ส่วนภาพรวมในการดูแลผู้พิการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากข้อมูลปี 2557 มีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,144,076 คน เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรือทางร่างกาย 48.96% หรือ 387,838 คน ผู้พิการทางการได้ยิน 20.50% หรือ 162,727 คน ผู้พิการสติปัญญา 15.95% หรือ 126,976 คน ผู้พิการทางการมองเห็น 13.65% หรือ 108,341 คน ผู้พิการจิตใจ พฤติกรรม ออทิสติกส์ 10.45% หรือ 83,202 ราย เป็นต้น และตั้งแต่ปี 51 - 57 มีผู้พิการได้รับการสนับสนุนกายอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากปี 2551 อยู่ที่ 6,185 ราย หรือ 13,397 ชิ้น และในปี 2557 อยู่ที่ 21,406 ราย หรือ 40,997 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ทางการเคลื่อนไหว รองลงมาเป็นอุปกรณ์ทางการได้ยิน และการมองเห็น