ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเดินหน้ากระจายวัคซีน'คอตีบ-บาดทะยัก'ใน เข็มเดียว ให้กลุ่มอายุ 20-50 ปี ตั้งเป้า 6 ล้านคน ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนขยายทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชนอายุ 20-50 ปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ที่เทศบาลนครสกลนคร อ.เมือง จ.สกลนคร

นพ.โสภณเปิดเผยว่า โรคคอตีบเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน บางรายอาจมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเกิดขึ้นเฉพาะในเด็ก แต่โรคนี้เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยรายงานตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคคอตีบในประเทศไทยลดลงจาก 2,000 ราย เหลือไม่เกินปีละ 10 ราย แต่ในปี 2555 ได้มีการระบาดของโรคคอตีบเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีรายงานพบผู้ป่วย 63 ราย

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า การระบาดดังกล่าวได้มีการตรวจเลือดในประชาชน พบว่าในกลุ่มอายุ 20-50 ปี บางส่วนมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคคอตีบ ด้วยเหตุนี้ เมื่อ ต้นปี 2557 กรมควบคุมโรคจึงรณรงค์ให้วัคซีนคอตีบนำร่องใน จ.มุกดาหาร และล่าสุดขยายการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย 20-50 ปี ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ตั้งเป้าให้บริการประชาชน จำนวน 1.6 ล้านคน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 รวม 7 จังหวัด คือ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ พร้อมขยายให้ถึง 6 ล้านคน ทั่วพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักในเข็มเดียว

"ขอเชิญชวนประชาชนผู้ที่มีอายุ 20-50 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดระหว่างเดือนมกราคม 2507 ถึงเดือนธันวาคม 2537 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปรับวัคซีนได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ส่วนในเด็ก สธ.มีมาตรการในการป้องกันโรคคอตีบอยู่แล้วโดยการให้วัคซีน รวม 6 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1, 2 และ 3 เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน, ครั้งที่ 4 และ 5 เมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่ง และ 4 ขวบ และครั้งที่ 6 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามลำดับ ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนตามตารางการให้วัคซีนให้ครบถ้วน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร.0-2590-3196-9 หรือสายด่วน 1422" นพ.โสภณกล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 14 พ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--