ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสภาแถลงค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ปัดไม่ได้หาเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา เผยเป็นปัญหามานานแล้ว ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงนี้ เสนอทางออกขยาย ม.41 ให้ครอบคลุม 3 สิทธิ์รักษาพยาบาล ชี้เอาเงินเป็นตัวตั้งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ

8 ธ.ค.57 ณ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ในการแถลงข่าวกรณี ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ..... นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ภาพรวมของต่างประเทศมีเพียงส่วนน้อยที่ใช้ระบบชดเชยความเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กจำนวนประชากรน้อย ประชาชนมีการศึกษาสูง มีความโปร่งใส มีการเสียภาษีทั่วถึงทุกคนในอัตราสูง ทั้งนี้หากมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการเกิดปัญหาระยะยาว คือ

- ประเด็นการเงิน ใช้เงินในการแก้ปัญหาเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ควรใช้เงินในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่างๆ ควรนำเงินมาพัฒนาคุณภาพการรักษาประชาชน

- ประเด็นความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย ต้องการให้แพทย์สื่อสาร อธิบายให้ผู้ป่วยทราบปัญหาและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ชัดเจน จะได้ไม่เกิดการร้องเรียน หรือฟ้องร้อง แต่กฎหมายนี้การอธิบายและไม่อธิบาย ไม่มีผลแตกต่างกัน อย่างไรต้องจ่ายเงินเหมือนกัน ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น

- มีการร้องเรียน ฟ้องร้อง เพิ่มขึ้น เพราะมีเงินรองรับและไม่มีเพดานการจ่าย ส่งผลต่อแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข เงินที่ใช้ในการรักษาพยาบาลจะถูกตัดไป เนื่องจากต้องไปจ่ายชดเชยผู้ป่วย ทำให้คุณภาพลดลง และแพทย์จะทำการรักษาอย่างป้องกันตัวเองมากขึ้น

- เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มองเห็นแพทย์เป็นผู้สร้างความเสียหาย ผิดจากปรัชญาของแพทย์ ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย

นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรมแพทยสภา กล่าวว่า ทางออกที่ควรจะเป็นคือ เสนอให้แก้ไขมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้คุ้มครองประชาชนทั้งประเทศ ทั้ง 3 กองทุน โดยแพทยสภาได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งในการแก้ไขร่างดังกล่าว จะมีการขยายเงินช่วยเหลือผู้ป่วยเพิ่ม โดยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการจ่ายเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท จากปัจจุบันจ่ายสูงสุดไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 500,000 บาท จากปัจจุบันจ่ายสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งหากนำมาใช้จะสามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ทันที และจะทำให้แพทย์กล้าที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยโดยไม่มีความวิตกกังวล และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ได้อย่างแท้จริง โดยปราศจากการฟ้องร้อง

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯนี้ เคยทำให้เกิดการคัดค้านประท้วงของแพทย์เกือบทั้งประเทศ มีความคิดที่แตกต่างมากมายส่งผลถึงความแตกแยก ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงนี้ ดังนั้นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อเป็นประด็นหาเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยภานั้น จึงไม่เป็นความจริง ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย มากกว่า 10 ฉบับ ทำให้เกิดความสับสนในกลุ่มแพทย์และประชาชน และจะมีปัญหาในการแปรญัตติในสภาฯ ถ้าร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านวาระแรก การตั้งกองทุนเป็นคำถามที่ใหญ่มากว่า มีความจำเป็นหรือไม่ ทั้งๆ ที่การเยียวยาผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาพยาบาล สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีกองทุน ถ้าหากจะต้องมีการตั้งกองทุน ขอเสนอให้มีการยุติกระบวนเสนอในครั้งนี้โดยทันทีและเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยไม่มีข้อเกี่ยวข้องทางการเมืองใดๆ ซึ่งขณะนี้มีแถลงการณ์ของ สพศท. สนับสนุนให้ใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 ช่วยเหลือคนไทยทุกคน