ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. ชื่นชมผลการดำเนินงานของหมอครอบครัวศูนย์อนามัย 11 ช่วยแก้ไขเด็กแรกเกิด-5 ปีที่มีพัฒนาการล่าช้าสำเร็จ ร้อยละ 50 ผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล/ความดันโลหิตสูงได้สามารถกลับบ้านได้ ร้อยละ 31 และผู้ป่วยพิการ/ผู้สูงอายุติดเตียงกลับบ้านได้ร้อยละ 11 ปริมาณผู้ป่วยติดเตียงครองเตียงในโรงพยาบาลลดลงร้อยละ 56 นำสมาร์โฟนมาเป็นเครื่องมือสร้างกลุ่มไลน์ทีมสหวิชาชีพ เยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายสื่อสารไปถึงผู้ป่วยและญาติและให้คำแนะนำพยาบาลชุมชน ผ่านระบบไลน์ทุกวัน รวมทั้งสร้างห้องสมุดระบบออนไลน์เป็นคลังความรู้สุขภาพ/สื่อสุขภาพ/ คู่มือแนวทางปฏิบัติในรูปภาพและเสียง

วันนี้ (7 มีนาคม 2558 ) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ รับฟังความคิดเห็นและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายที่เขตบริการสุขภาพที่ 11 ประกอบด้วยจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ชุมพร กระบี่ พังงา ระนอง และให้สัมภาษณ์ว่า ชื่นชมในความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามนโยบายของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะนโยบายหมอครอบครัว ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 11 กรมอนามัย ประสบความสำเร็จในการช่วยแก้ไขเด็กแรกเกิด-5 ปี ที่มีพัฒนาการล่าช้าได้สำเร็จถึงร้อยละ 50 ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล/ ความดันโลหิตสูงได้สามารถกลับบ้านได้ ร้อยละ 31 ผู้ป่วยพิการ/ผู้สูงอายุติดเตียง สามารถกลับบ้านได้ ร้อยละ 11 การยอมรับในปัญหาความเจ็บป่วยและการดูแลโดย อาสาสมัครสาธารณสุข /ญาติ เพิ่มขึ้น ปริมาณผู้ป่วยติดเตียงครองเตียงในโรงพยาบาลลดลง ร้อยละ 56

โดยใช้กลยุทธ์การทำงานอยู่ภายใต้สโลแกน “1111” คือ 1หมู่บ้าน 1สถานีสุขภาพ 1นายทะเบียน และ 1พยาบาลชุมชน นำสมาร์ทโฟนมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารในชุมชน ทั้งการรายงานและขอคำปรึกษาจากทีมหมอครอบครัวระดับตำบล และทีมสหวิชาชีพของทีมโรงพยาบาล ผ่านกรุ๊ปไลน์ 45 กลุ่ม และจัดทำห้องสมุดออนไลน์ มีไลน์ข้อมูลคลังความรู้สุขภาพ/สื่อสุขภาพ/ คู่มือแนวทางปฏิบัติทั้งที่เป็นภาพและเสียง ปัจจุบันมี 206 เรื่อง ที่สามารถค้นหาและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ที่สำคัญในแต่ละวันทีมหมอครอบครัวระดับโรงพยาบาลจะมีการเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายและให้คำแนะนำพยาบาลชุมชน ผ่าน ระบบไลน์เช่นกัน ซึ่งสามารถสื่อสารไปถึงผู้ป่วยและญาติได้ทุกวัน นอกจากนี้ ยังได้จัดหาเครื่องมือการเฝ้าระวังและคัดกรองสุขภาพอย่างง่าย เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องเจาะน้ำตาล อุปกรณ์ตรวจและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เป็นต้น ให้พอเพียงและพร้อมในการให้บริการกลุ่มเป้าหมาย โดยท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งรถบริการระบบฉุกเฉินด้วย

สำหรับศูนย์อนามัยที่ 11 รับผิดชอบประชากร 29,529 คน ดำเนินงานหมอครอบครัวใน 3 กลุ่ม หลัก ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียงและผู้พิการ 41 คน เด็ก 0-5 ปี ที่มีพัฒนาการล่าช้า 163 คน และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรคเบาหวาน /ความดันโลหิตสูง 169 คน ทีมหมอครอบครัวระดับชุมชน มีครบทั้ง 45 หมู่บ้าน 45 คน ระดับตำบล มี 7 ทีม 7 คน และระดับหน่วยบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมี 1 ทีม 7 คน ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้รับบริการทุกคนจะได้รับ “บัตรกิจกรรมสุขภาพ” ที่เป็นองค์ความรู้ตามมาตรฐานการดูแลตนเองของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหา หรือการเจ็บป่วย หรือ พฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการประเมินตนเอง และทีมพยาบาลชุมชนใช้เป็นแนวทางการประเมินผู้ป่วยด้วยเช่นกัน