ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.รุกสิทธิประโยชน์ “ยาขับเหล็ก” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว ลดภาวะแทรกซ้อนจากธาตุเหล็กเกินหลังการรับเลือด แจงมีผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ต้องรับยาขับเหล็ก 4,000 ราย จากผู้ป่วยธาลัสซีเมียสิทธิ์บัตรทองเกือบ 4 หมื่นราย ช่วยทำให้ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเข้าถึงการรักษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เผย พร้อมเดินหน้านโยบายหนุนคัดกรองความเสี่ยงในคู่สมรสและระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสู่ลูก โดยคาดการณ์ว่าในประเทศไทยมีผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ 37 หรือราว 24 ล้านคน นับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสความเสี่ยงสูงที่จะมีการคลอดบุตรที่มีภาวะโรคโลหิตจางชนิดรุนแรง   ทั้งนี้จากข้อมูลของมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียประมาณการณ์ว่า แต่ละปีจะมีคู่เสี่ยงที่มีโอกาสคลอดบุตรเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงราว 20,500 คู่ และหากไม่มีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จะมีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียรายใหม่ประมาณ 4,900 – 5,000 รายต่อปี ซึ่งจะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลผู้ป่วย และเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 100,000 บาทต่อคนต่อปี

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมีนโยบายเน้นการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงด้วยการสนับสนุนให้สถานพยาบาลจัดบริการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีการคัดกรอง การตรวจยืนยัน การวินิจฉัยทารกในครรภ์ การจัดให้คำปรึกษา ซึ่งรวมถึงมาตรการแทรกแซงช่วงตั้งครรภ์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น โดยได้ตั้งเป้าหมายเพื่อคัดกรองภาวะความเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ให้ทั้งหมด รวมไปถึงการเน้นคัดกรองความเสี่ยงในคู่สมรส

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า นอกจากนโยบายการป้องกันและคัดกรองแล้ว ในด้านการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย สปสช.ยังได้มีนโยบายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ “ยาขับเหล็ก” หรือยาดีเฟอริโพรน (deferiprone) เพื่อให้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีภาวะแทรกซ้อนจากธาตุเหล็กเกินจากการรับเลือด ภายหลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้ ซึ่งส่งผลให้ยามีราคาถูกลงและทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา มีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 นี้ สปสช.ได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ยาขับเหล็กต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 38,700 ราย  ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งต้องได้รับเลือดและยาขับเหล็กอยู่เป็นประจำ ประมาณ 4,000 ราย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการได้รับยาขับเหล็กและรับเลือดนั้น ถ้าหากต้องจ่ายเงินเอง จะอยู่ที่ประมาณรายละ 50,000-100,000 บาทต่อปี เฉพาะรับเลือดและยาขับเหล็กเท่านั้น ยังไม่รวมรายการออื่นๆ ดังนั้นจะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวช่วยคุ้มครองสุขภาพผู้ป่วยธาลัสซีเมียโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเศรษฐกิจมาเป็นข้อจำกัด

“เป้าหมายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ซึ่งรวมถึงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว