ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวกรณีที่คณะแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอาวุโสกว่า 100 คน ร่วมแสดงจุดยืนเรียกร้องให้คณะรัฐบาลเห็นชอบสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้เน้นระบบสุขภาพเชิงรุก ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุม และป้องกันโรค มากกว่าการรักษา การที่สมาคมการค้ายาสูบไทย และธุรกิจบุหรี่ อ้างว่ากฎหมายนี้ทำร้ายโชห่วยและชาวไร่ยาสูบ เป็นการให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม คาดการณ์ ว่ากำไรของค้าปลีกจากการขายยาสูบ โดยเฉลี่ยจะลดลงไม่ถึงร้อยบาทต่อเดือน ในขณะที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะมีรายได้ลดลงปีละ 150 ล้านบาท จึงใช้ร้านค้าปลีก โชห่วยเป็นข้ออ้าง ส่วนชาวไร่ยาสูบในความเป็นจริงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าปริมาณการสูบบุหรี่จะลดลงจากการออกกฎหมายนี้จนกระทบต่อชาวไร่และรัฐบาลมีทางออกให้ปลูกพืชอื่นทดแทนได้
 
"มีคนไทยตายปีละ 50,000 คน เจ็บป่วยอีกหลายล้านคน รัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ และยังพบว่าคนไทยที่จนที่สุด 1,400,000 คน ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาทที่ติดบุหรี่ต้องเสียเงินค่าบุหรี่ถึง 540 บาทต่อเดือน แทนที่จะนำไปใช้ในเรื่องที่มีประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งถือเป็นการทำร้ายคนจนอย่างร้ายแรง ปัจจุบันสถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเรียกร้องให้ธุรกิจเอกชนออกมารับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นธุรกิจบุหรี่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ออกมาแทรกแซงกระบวนการออกกฎหมายควบคุมยาสูบ" นพ.ชูชัยกล่าว
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 5 เมษายน 2558