ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รมว.สธ.’ แจง มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดตั้ง “หน่วยงานกลางบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน” ย้ำไม่ใช่ National Clearing House เผยหน่วยงานกลางเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลจะช่วยประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล สถานพยาบาลทุกแห่งตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบเดียว ไม่แยกตามกองทุน เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบ ระบุ 1 ต.ค. 58

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ “การบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน” (National beneficiary registration center) เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนในทุกระบบ ทั้งนี้เนื่องจากตามมาตรา 5 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545  ได้กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิสำหรับประชาชนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้

ทั้งนี้เพื่อให้ สปสช.สามารถดำเนินภารกิจเพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับ จำเป็นต้องได้รับข้อมูลจากทุกกองทุนและหน่วยงานเพื่อจัดให้ผู้ไม่มีสิทธิอื่นได้รับการลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันแม้ว่า สปสช.ได้รับข้อมูลสิทธิจากกองทุนอื่น และหน่วยงานรัฐบางแห่ง แต่ยังมีประชาชนที่ได้รับสิทธิซ้ำซ้อน จากการที่ไม่มีฐานข้อมูลสิทธิกลางที่ถูกต้องครบถ้วนของบุคคลทุกสิทธิ จึงมีความไม่สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช.ทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลกลางรวบรวมการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกระบบ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือ ประชาชนจะได้รับความสะดวกและรับบริการอย่างมั่นใจ ใช้สิทธิได้ถูกต้องจากฐานข้อมูลกลางในการใช้อ้างอิงกลุ่มผู้มีสิทธิที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และยังสามารถเข้ารับสิทธิรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง หาก สปสช.ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนสิทธิการรักษา ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐ ประโยชน์ที่ได้รับคือการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ซ้ำซ้อนลงได้ หากมีฐานข้อมูลสิทธิที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ทั้งยังสามารถเพิ่มประโยชน์จากการใช้งานบัตรประชาชนอเนกประสงค์ที่มีข้อมูลสิทธิอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทั้งนี้หลังบอร์ด สปสช.เห็นชอบ จะนำเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

“การเสนอจัดตั้งหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน ซึ่งจะมอบให้ สปสช.ดำเนินการ จะทำเฉพาะเรื่องการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือแม้แต่การกำหนดสิทธิประโยชน์ โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ในการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อดำเนินการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขระดับชาติ (National Clearing House)” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้มีหน่วยงานกลางนี้ พร้อมกันนี้ได้ประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมปรับฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงการทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ ซึ่งภายหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 สถานพยาบาลทุกแห่งจะตรวจสอบข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบเดียว ไม่แยกตามกองทุนอย่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สปสช.ได้ทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับ 3 กองทุน คือระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลการเกิดและตายของทะเบียนราษฎร์ โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองที่เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบูรณการทะเบียนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2550

ดังนั้นเพื่อให้ระบบฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลมีความสมบูรณ์และเป็นการดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง จึงเห็นควรขยายให้ครอบคลุมสิทธิการรักษาพยาบาลในทุกระบบ โดยให้ทุกหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.และหน่วยงานที่ดูแลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจัดส่งข้อมูลผู้มีสิทธิให้กับหน่วยงานที่ได้รับมอบ เพื่อที่ สปสช.จะดำเนินการปรับปรุงข้อมูลกลางเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อมูลที่ยังขาดการบูรณาการบูรณาเฉพาะกรณีพนักงานรัฐและบุคคลในครอบครัวคาดว่ามีประมาณ 675,000 คน ซึ่งยังไม่นับรวมระบบอื่น