ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมโรงพยาบาลกว่า 800 แห่ง รับอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ปี 58 เต็มที่ เปิดสายด่วน 1669 รับแจ้งตลอดเวลา เตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินกว่า 15,000 ทีมพร้อมรถพยาบาล ถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที จัดแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู คลังเลือดพร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ให้ อสม.ตั้งด่านชุมชนกว่า 10,000 แห่ง สกัดนักบิดไม่สวมหมวกกันน็อค ดื่มแล้วขับในหมู่บ้านพร้อมประกาศเป็นองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนนให้ทุกหน่วยงานในสังกัดฯ เป็นเขตสวมหมวกนิรภัย/คาดเข็มขัดนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ จัดทีมตรวจเตือนร้านค้าตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคร่งครัด 21วัน ก่อน-ระหว่าง-หลังเทศกาล

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ อาทิ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สปสช. บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ร่วมกันแถลงข่าว มาตรการเตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ตามนโยบายศูนย์ความปลอดภัยทางถนน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน - 15 เมษายน 2558 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมเพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด 3 มาตรการใหญ่  ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาล ให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศที่มี 855 แห่งทั้งในกทม.ปริมณฑล ต่างจังหวัด เตรียมความพร้อมการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บซึ่งมี 2 ส่วนคือทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ ทั้งรัฐ เอกชน มูลนิธิและอาสาสมัครต่างๆ ทั่วประเทศ 15,223 ทีม บุคลากรรวม 159,854 คน ในการช่วยผู้บาดเจ็บที่จุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 และนำส่งโรงพยาบาลเร็วที่สุด ลดการเสียชีวิตและความพิการ และเตรียมความพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู สำรองเวชภัณฑ์คลังเลือดทุกหมู่เพิ่ม 2 เท่าตัว สำรองเตียงเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ จัดทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประมาณ 160,000 คน พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

2.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการเมาสุราเป็นสาเหตุ 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมด โดยจะเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ 10 ประเภท ได้แก่ ศาสนสถาน สถานบริการสาธารณสุขและร้านขายยา สถานที่ราชการ/รัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานอื่นของรัฐ สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส สวนสาธารณะของทางราชการ ท่าเรือและเรือโดยสารสาธารณะทุกชนิด สถานีขนส่งและทางสาธารณะ สถานีรถไฟและบนขบวนรถไฟ และสถานที่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของทางราชการ/รัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานอื่นของรัฐ ในปีนี้ ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับตำรวจกองปราบ ออกตรวจตลอด 7 วันก่อน / 7 วันระหว่าง และ 7 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ รวม 21 วัน หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่ละเว้น โดยเฉพาะในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์

3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง จัดอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวนกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศร่วมปฏิบัติงานตั้งด่านชุมชนหรือจุดสกัดกั้นในช่วงเทศกาล รวมกว่า 10,000 แห่ง เพื่อสกัดกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในหมู่บ้านชุมชน เช่น เมา  ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่ให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกสู่ท้องถนนตลอด 7 วันเทศกาลสงกรานต์ และให้ทุกจังหวัดวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ เสนอศูนย์ความปลอดภัยทางถนนของจังหวัด เพื่อวางแผนลดอุบัติเหตุของพื้นที่ วันต่อวัน

ทั้งนี้ ในการป้องกันอุบัติเหตุจราจรให้ได้ผลอย่างยั่งยืน กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มขับเคลื่อนมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้เป็นองค์กรต้นแบบ โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้พื้นที่ภายในหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นเขตสวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และออกมาตรการเพื่อความปลอดภัย ทั้งการใช้รถพยาบาลขณะนำส่งผู้ป่วยจะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถยนต์ในราชการกำหนดความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบุคลากรจะต้องปฏิบัติตามกฎจราจร 5 เรื่อง คือไม่ขับรถเร็ว ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถทุกชนิด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนและขณะขับรถทุกชนิด ให้สวมหมวกนิรภัย/คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป

สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน บาดเจ็บมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลปีละ 4-5 แสนคน เฉพาะเทศกาลสงกรานต์ 11 - 17 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา 7 วันมีผู้เสียชีวิตรวม 322 คน เฉลี่ยวันละ 46 คน นอนรักษาในโรงพยาบาล 3,225 คน เฉลี่ยวันละ 460 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานอายุ 15 - 30 ปี โดยเสียชีวิตบนถนนทางหลวงมากที่สุด รองลงมาคือถนนในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือรถปิคอัพ สาเหตุหลักมาจากเมาสุราและขับรถเร็ว นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบ 1,000 คน ในจำนวนนี้มีดื่มสุรากว่า 200 คน ซึ่งตามกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง