ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยรัฐ : ระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน มีจุดเด่นหรือด้อยอย่างไร ถึงเวลาปฏิรูปแล้วหรือยัง พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.พิจิตร บอกว่า ระบบสาธารณสุขของไทยเรามีจุดแข็งหลายจุด เมื่อเทียบกับระบบสาธารณสุขของประเทศอื่น ได้แก่ เรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนไทยกว่า 47.24 ล้านคน ซึ่งไม่มีสิทธิอื่น เข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดปัญหาความยากจนจากการล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประชาชนพึงพอใจ เห็นได้จากการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนและบุคลากรในหน่วยบริการ ปี พ.ศ.2551 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ พบว่ามีความพึงพอใจรวมร้อยละ 88.37 พึงพอใจบริการของแพทย์มากที่สุดร้อยละ 93.6 รองลงมาเป็นการบริการของเจ้าหน้าที่และพยาบาล ร้อยละ 92.8 ความพึงพอใจของผู้ให้บริการก็อยู่ในเกณฑ์สูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักประกันสุขภาพและปัญหาเร่งด่วนของสาธารณสุข วุฒิสภา ประจำปีงบประมาณ 2552–2553 มีประเด็นน่าสนใจคือ เรื่องการขาดทุนของโรงพยาบาล

จากข้อมูลปี 2552 พบว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุข สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขาดทุน 505 แห่ง (คิดเป็น 62.58%) เป็นวงเงิน 5,572 .21 ล้านบาท มีวิกฤติการเงิน 175 แห่ง ปลายปีงบประมาณ 2553 มีโรงพยาบาลขาดทุน 585 แห่ง (คิดเป็น 69.56%) เป็นวงเงิน 7,300 ล้านบาท มีวิกฤติการเงิน 304 แห่ง ขณะที่งบประมาณของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นทุกปี

ดังนั้น การปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็น พิจารณาจากการปฏิรูปสาธารณสุขในหลายทศวรรษที่ผ่านมาของประเทศโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีสมาชิก 34 ประเทศ พบว่าการประสบความสำเร็จดูได้จากผลงานตามนโยบาย ที่มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1.การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นของประชาชน 2.การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการทางสาธารณสุข โดยติดตามจากตัวชี้วัด เช่น อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีของประชากร การตายของทารก

และ 3.ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขมีความคุ้มทุนและคุ้มค่า ทั้งระดับเศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์จุลภาค คือภาพรวมระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับปัจเจกบุคคล

สำหรับการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยให้ประสบความสำเร็จ พญ.ชัญวลี เสนอว่าควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักการการแพทย์พอเพียงซึ่งมีอยู่ 8 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพ คนทั้งชาติต้องร่วมสร้างสุขภาพ รับผิดชอบดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง เจ็บป่วยเล็กน้อยควรพึ่งตนเองเป็นพื้นฐาน รัฐมีกลยุทธ์สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีส่วนร่วม ตระหนักในการดูแลสุขภาพ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและท้องถิ่นช่วยกันดูแลสุขภาพ ประชาชนควรตื่นตัวเรื่องป้องกันโรค และได้รับการบริการป้องกันโรคที่ป้องกันได้ทุกโรคอย่างไม่คิดมูลค่า เช่นวัคซีนต่างๆ การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก การป้องกันอุบัติเหตุ ฯลฯ การป้องกันโรคนั้นถึงแม้จะมีราคาแพงแต่เมื่อเทียบกับชีวิตและการทุพพลภาพของประชาชนจากโรคที่ป้องกันได้นั้นนับว่าถูกมาก

2.ประชาชนสุขใจ ประชาชนได้รับการรักษาโรคระยะเริ่มก่อนรุนแรง รักษาโรครุนแรงด้วยองค์ความรู้และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รัฐต้องแก้ปัญหาการกระจายความเจริญทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์, แก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรักษาโรคเมื่อมีอาการรุนแรงแล้วควรเร่งวิจัยการใช้ยาสมุนไพร สนับสนุนการผลิตยา การรักษาแบบไทยๆที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสิ้นเปลืองความเสี่ยง และผลประโยชน์ที่ได้รับ

เมื่อเจ็บไข้เป็นโรครุนแรงประชาชนควรได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ การมีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลายเป็นข้อด้อยเพราะมีผู้ใช้บริการมาก จึงต้องมีช่องทางพิเศษและความช่วยเหลือให้แก่ผู้ลำบากยากจนและผู้ด้อยโอกาส

3.บุคลากรทางการแพทย์ไม่ทุกข์ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท โดยสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง มีอิสระในการรักษาใช้ยา มีจรรยาบรรณ เรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต มีกฎหมายคุ้มครองหากทำงานสุจริต มีบรรยากาศในการทำงานดี สวัสดิการดี ค่าตอบแทนเหมาะสมกับชั่วโมงการทำงาน หากได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ควรได้รับการคุ้มครองในมูลค่าที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้รับบริการ

4.มีเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ระดับต่างๆ รัฐและเอกชนควรร่วมมือกัน ทุ่มเทสติปัญญา ขยายขอบเขตความสามารถในการดูแลรักษาประชาชน ประชาชนควรมีส่วนร่วม มีเครือข่ายเชื่อมโยงสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี บทเรียนจากการดูแลรักษาไข้ ความรู้และการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเครือข่ายเหล่านี้ควรได้ช่วยเหลือกัน กว้างขวางไปจนถึงระดับนานาชาติอย่างแบ่งปันเฉลี่ยทุกข์สุข ไม่เบียดเบียนกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล ใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า

5.ส่งเสริมการรักษาพยาบาลทุกระดับ ระดับปฐมภูมิควรผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ แต่ไม่ควรละเลยส่งเสริมการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ เพราะการรักษาพยาบาลล้วนแต่ต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่สามารถแยกส่วนกันได้โดยเด็ดขาด

หากระดับใดระดับหนึ่งไม่เข้มแข็ง ก็จะส่งผลให้ระดับอื่นๆอ่อนแอไปด้วย ทั้งควรพัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการประสานงานที่ดี มีแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลทุกระดับ มีการทบทวนและแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ

6.บริจาคทาน การจ่ายร่วมหรือร่วมจ่ายถือเป็นการบริจาคทานที่น่าภาคภูมิใจ สร้างความรักความผูกพัน สร้างความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างพลเมืองในชาติ สร้างจิตสำนึกของการทดแทนคุณแผ่นดิน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้น ช่วยค้ำจุนระบบการเงินการคลังสาธารณสุข ทำให้การแพทย์ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ชะงักงันถอยหลังจากการขาดทรัพยากร ซึ่งสุดท้ายจะได้ประโยชน์สูงสุดแก่คนไข้ทุกคนไม่ว่ายากไร้หรือมีฐานะ การร่วมจ่ายมีหลายรูปแบบ เช่นเป็นรายปีในรูปภาษี หรือซื้อประกัน หรือจ่ายเป็นร้อยละของค่ารักษาพยาบาล โดยอาจจะมีการจ่ายเป็นลำดับขั้น มีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก ไม่มีไม่ต้องจ่าย

7.โรงพยาบาลสามารถเลี้ยงตนเองได้ รายได้ของแต่ละโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหลายทางเช่น การบริจาค สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพ โดยสิทธิประกันสุขภาพ เป็นรายได้มากสุดที่ชี้เป็นชี้ตายได้ รพ.ควรมีวิธีหารายได้เพิ่มเติม เช่น มีคลินิกพิเศษ บริการพิเศษ ออกนอกระบบ ฯลฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการโดยมีการกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่ควรนำเงินไปตั้งกองทุนย่อยแข่งกับ สธ.เสียเอง ไม่ควรรวมเงินเดือนไว้ในงบประมาณที่จะให้หน่วยบริการ การแก้ไขให้จ่ายเงินค่าหัวสิทธิประกันสุขภาพระดับเขต หรือเปลี่ยนผู้ถือเงิน โดยไม่เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดสรร เป็นการซุกปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

และ 8.มีการดูแลระยะสุดท้าย เมื่อถึงเวลาที่ต้องละโลก สามารถจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี สงบ ไม่ทุกข์ทรมาน มีเกียรติ เป็นธรรมชาติ ตามความเชื่อของศาสนาที่ยึดเหนี่ยว

ทั้ง 8 ข้อ ล้วนเป็น “แนวทาง” ที่เสนอ ส่วนการสนองนั้นขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจหน้าที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร.

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558