ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกแพทยสภาชี้การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายกรณีคุมกำเนิดชั่วคราว/ทำหมันแล้วท้องไม่น่าจะถูกต้อง ชี้เป็นการสร้างมาตรฐานว่าทำหมันแล้วท้องต้องได้เงิน เดือดร้อนโรงพยาบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้คนไข้ประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการด้วย หวั่นแพทย์อาจไม่กล้าทำหมันเพราะต่อให้ทำถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพก็เดือดร้อนต้องช่วยจ่ายเงินอยู่ดี

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวถึงมติแพทยสภาที่แสดงจุดยืนให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หยุดจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์กรณีการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันหรือคุมกำเนิดชั่วคราว โดยระบุว่าอยากให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวเพราะการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันหรือคุมกำเนิดชั่วคราวไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดๆ ที่ได้ผล 100% นอกจากนี้ฝ่ายกฎหมายของแพทยสภาได้ตรวจสอบข้อกฎระเบียบต่างๆ แล้วคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

พญ.ชัญวลี กล่าวต่อไปว่า คำว่าสุดวิสัยแปลว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกะทันหันโดยไม่คาดการณ์ แต่การทำหมันแล้วท้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว แม้แต่วิธีการทำหมันที่ราชวิทยาลัยสูติฯ แนะนำก็ยังมีโอกาสท้อง 0.2% และงานวิจัยที่มีการรีวิวล่าสุดยังพบว่าเมื่อทำหมันในปีแรกมีโอกาสท้อง 1:1000 แต่ผ่านไป 10 ปีมีโอกาสท้อง 10:1000 หรือ 1% ยิ่งการคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยวิธีการฉีดยาคุมก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 6% ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายคำว่าสุดวิสัยเพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ และในกฎหมายก็เขียนนิยามเอาไว้ชัดเจน

“หลังจากคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขสั่งให้จ่ายเงินชดเชยกรณีที่คุมกำเนิดชั่วคราว ได้แก่ ฉีดยาคุม ฝังยาคุม และใส่ห่วง โดยอ้างว่าเมื่อไหร่ที่คนไข้ปฏิบัติตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยสูติฯ อย่างเคร่งครัดแต่ยังเกิดการท้อง ให้จ่ายเงิน 30,000 บาทและถ้ามีผลกระทบจากการท้องให้จ่ายอีก 20,000 บาท ทีนี้มันก็จะเกิดความโกลาหลตามมา” พญ.ชัญวลี กล่าว

พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเรื่องแรกคือเกิดการตั้งมาตรฐานไว้แล้วว่าเมื่อทำหมันแล้วท้องหรือคุมกำเนิดแล้วท้องจะได้รับเงินชดเชย ซึ่งคนไข้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพจะได้รับเงินเยียวยา แต่คนไข้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการจะไปเอาเงินเยียวยาจากไหน

“ล่าสุดที่แพทยสภารู้สึกว่ามีผลกระทบรุนแรงคือที่ จ.อุดรธานี เนื่องจากทางประกันสังคมไม่มีจ่าย คนไข้ก็ไปร้องที่ศูนย์ดำรงธรรม แล้วศูนย์ดำรงธรรมก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริง ไปบอกว่าควรจะจ่าย 200,000 บาท แล้วไม่มีใครไปคัดค้านว่าถูกหรือไม่ถูก ทีนี้คนก็เข้าใจว่าทำหมันแล้วท้องได้เงินชดเชย ซึ่งสุดท้ายแล้วโรงพยาบาลอุดรธานีก็ต้องรวมเงินกับประกันสังคมและทางจังหวัดจ่ายให้คนไข้รายนี้ไป 250,000 บาท” พญ.ชัญวลี กล่าว

ขณะเดียวกัน ก็สร้างความทุกข์ของแพทย์ในปัจจุบัน กล่าวคือหมอที่ทำหมันทุกคนจะต้องพิสูจน์ว่าตัวเองได้ทำหมันจริง เช่นตัดท่อรังไข่ทั้ง 2 ด้านแล้วถ่ายรูปไว้หรือส่งท่อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา ซึ่งการส่งพิสูจน์ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคนละ 800-1,200 บาท แต่ก็ต้องทำเพื่อให้เห็นชัดๆ ว่าไม่ได้เป็นความผิดพลาดของแพทย์ และแม้จะทำอย่างถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วก็ตาม เมื่อคนไข้ท้องขึ้นมาก็ยังได้รับเงินชดเชยอยู่ดี

“ยิ่งมีมาตรฐานจ่าย 250,000 บาทเกิดขึ้น ในส่วนของประกันสังคมกับข้าราชการจะเอาเงินใครจ่าย โรงพยาบาลตอนนี้ยากจนเกือบ 100 โรงพยาบาลแต่ก็ต้องมาจ่ายชดเชยให้ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สิ่งที่กระทบต่อไปคือหมอทำหมันต้องระมัดระวังทุกขั้นตอน และถ้ายังต้องจ่ายเงินชดเชยตลอดแบบนี้ คาดว่าเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นคือหมอจะไม่ทำหมันให้เพราะทำแล้วเดือดร้อนกลัวว่าต้องชดใช้ การคุมกำเนิดก็ไปคุมกันเองไม่ได้เป็นเรื่องของหมอแล้ว หรือมีคนเสนอว่าต่อไปถ้าจะทำหมันอาจต้องไปแจ้งความก่อนว่าถ้าตั้งท้องขึ้นมาจะต้องไม่เอาผิด ไม่เรียกร้องค่าเสียหาย มันก็จะวุ่นวายกันพอสมควร” พญ.ชัญวลี กล่าว

พญ.ชัญวลี กล่าวทิ้งท้ายว่า ความเห็นดังกล่าวเป็นจุดยืนที่แพทยสภาแสดงออกเพื่อคัดค้านแต่ก็คงไม่ไปก้าวล่วงอำนาจของผู้ทำการตัดสินใจ แต่ถ้าการจ่ายเงินชดเชยลักษณะนี้ผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา สุดท้ายแล้วใครต้องเป็นคนรับผิดชอบเงินเยียวยานี้ และหากไม่มีการทบทวนแล้ว ก็ต้องคงไปดูกฎหมายว่าถ้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาตรวจสอบแล้วยังคิดว่าทำถูกต้องอยู่หรือไม่