ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใน 100 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยได้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จากนโยบายการเพิ่มประชากรของรัฐบาล จากจำนวน 8 ล้านคนในปี พ.ศ.2453 มาเป็นกว่า 65 ล้านคนในปัจจุบัน แต่ใน 10 ปีมานี้ การขยายตัวลดน้อยลงมากเหลือเพียงร้อยละ 0.8 ต่อปี พีระมิดประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลง จากที่เคยเพิ่มประชากรเด็กและวัยรุ่น กลายมาเป็นการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุ ขณะที่ประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในปี พ.ศ.2503 มีประมาณร้อยละ 40 ปัจจุบันลดลงกว่าครึ่ง ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ.2553 พบประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 13, ประชากรอายุมากกว่า 65 ปี พบร้อยละ 9, คาดการณ์ว่าหากอัตราการเพิ่มยังเป็นเช่นนี้ อีก 30 ปี ประชากรอายุมากกว่า 60 ปี น่าจะมีจำนวนร้อยละ 32 ประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มีจำนวนร้อยละ 25

การที่ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเกิดจากความเสื่อมของสังขาร หรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจ ไต ตับ ปอด ไขข้อ ภูมิแพ้ อุบัติเหตุ เอดส์ มะเร็ง วัณโรค ฯลฯ

การช่วยตนเองไม่ได้นั้น วัดจากกิจกรรมประจำวัน 6 อย่างได้แก่ การเข้าห้องน้ำ การอาบน้ำ การกิน การเดินหรือเคลื่อนไหว การแต่งตัว การกลั้นปัสสาวะอุจจาระ เนื่องจากการแพทย์เจริญขึ้น ประชากรอายุยืนขึ้น ฯลฯ อายุขัยเฉลี่ยชายและหญิง อยู่ที่ 70 และ 75 ปี การช่วยตนเองไม่ได้เป็นไปตามอายุ อายุเกิน 60 ปี เฉลี่ยช่วยตนเองไม่ได้ร้อยละ 3.7, อายุ 60-74 ปี พบร้อยละ 1.4-2.6, อายุ 75-79 ปี พบร้อยละ 4.8, อายุ 80 ปี ขึ้นไป พบร้อยละ 15.4

ดังนั้น ในปัจจุบันประเทศไทยน่าจะมีผู้สูงอายุที่ป่วยไม่สามารถช่วยตนเองได้จำนวนประมาณ 3 แสนคน ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐไม่อาจรับภาระความเจ็บป่วยเรื้อรังของผู้สูงอายุได้ทั้งหมด

ในสมัยก่อน ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาวส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง ในปัจจุบันนอกจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจและสังคมทำให้คนหนุ่มสาวหรือคนวัยกลางคนต้องออกจากบ้านไปทำงาน เด็กๆ ก็ต้องไปเรียนหนังสือ จึงเกิดการทอดทิ้งผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้ งานวิจัยพบว่าผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ได้แก่ สามี/ภรรยา (26%), ลูกสาว (52%), ลูกชาย (36%), ลูกเลี้ยง (35%), ญาติ (37%), พี่น้อง (19%) ที่เกินร้อยละร้อย เพราะผู้ป่วยคนหนึ่งอาจมีผู้ดูแลหลายคน ทั้งพบว่าผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 4 ไม่มีญาติ ผู้ดูแลคือ เพื่อน (13%) คนรับจ้าง (5%) ลูกน้อง (6%) (ข้อมูลจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2013)

การดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาว เป็นนโยบายแห่งชาติ ถือว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระของประเทศแต่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งจากตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและรัฐ รัฐได้จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีนโยบายส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ โดยการลดหย่อนภาษี ทางกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.เห็นความสำคัญโดยได้กระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ให้บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานเชิงรุก ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคเรื้อรัง และออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยสูงอายุ ทั้งยังมีเครือข่าย อาสาสมัคร จิตอาสา ทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยระยะยาว มีตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยระยะยาวในประเทศไทยจำนวนมาก มีการประสานกันระหว่างญาติ เพื่อน อาสาสมัคร หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล เช่นกรณีของคุณสุภาพร เครือข่ายพุทธิกา (เผยแพร่ใน Youtube) ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ที่จากไปอย่างอบอุ่น สงบปราศจากความทุกข์ทรมาน ท่ามกลางญาติมิตรเพื่อนฝูง

นอกจากนั้น ธุรกิจบริการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาว เป็นรายวัน รายเดือน มีสถานพยาบาลพร้อมบุคลากรที่ดูแล ก็มีจำนวนมาก ถือเป็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาวที่มีความสามารถจ่ายได้ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ แต่ไม่ได้เหมาะสมกับคนสูงอายุทั่วไป ซึ่งมักจะไม่มีรายได้เพียงพอ

การที่รัฐเห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาวจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ในความคิดเห็นของผู้เขียน ปัจจัยที่จะเอื้ออำนวยให้ประสบความสำเร็จมีดังนี้

1.จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลระยะยาวที่รัฐต้องดูแล ต้องมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับประชากร ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมสุขภาพในประชากรทุกเพศทุกวัย ทุ่มเทงบประมาณ ส่งเสริมสุขภาพให้ได้ผลอย่างเป็นจริง

2.การป้องกันโรคต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันปฐมภูมิ เช่น ฉีดวัคซีน ป้องกันทุติยภูมิ คัดกรอง ค้นหาโรค ป้องกันตติยภูมิ รักษาโรคตามมาตรฐานให้ใกล้เคียงปกติ

3.ทุกหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ควรถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ในการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรค ด้วยโรคเรื้อรัง เกือบทุกโรค สามารถป้องกันได้

4.ส่งเสริม ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานต่างๆ สังคม ดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาว โดยเสริมพลังทางบวก เช่น ให้กำลังใจ ลดภาษีอากร ยกย่อง ช่วยค่าใช้จ่าย ให้รางวัล

5.สื่อต่างๆ และตำราเรียน ควรชี้ให้เห็นบทเรียนนำสู่สัจธรรมของชีวิต โดยนำหลักการทางศาสนามาใช้ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงการเกิดแก่เจ็บความตาย ความตายเป็นไปตามธรรมชาติกำหนด ไม่ควรยื้อความตายที่เจ็บปวดทรมานและไม่มีทางหาย แต่ควรจากไปอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี

6.รัฐควรส่งเสริมหน่วยงานของรัฐและเอกชน สร้างสถานพยาบาล และบุคลากรที่ช่วยดูแลผู้ป่วยระยะยาวให้มากขึ้น ทั้งแบบเช้าไปเย็นกลับ (Day care) หรือแบบค้างคืน ในราคาไม่แพง

7.รัฐและกระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนการสร้างหมอบ้าน พยาบาลบ้าน หรือบุคลากรบ้าน (Home doctors, Home nurse, Home Medical personnel) ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคเรื้อรัง และการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะยาว ที่ออกไปทำงานเชิงรุกที่บ้านของผู้ป่วย

8.รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ขยายอายุเกษียณ สร้างงานอดิเรก สนับสนุนการรวมตัวของผู้สูงอายุ เป็น กลุ่ม ชมรม ให้มากขึ้น ฯลฯ เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การทำงานทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนมีคุณค่า การได้รวมตัวกันสังสรรค์กัน ช่วยเหลือกัน ก็จะทำให้สุขภาพทั่วไปแข็งแรงมากขึ้น

ผู้เขียน : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข email : chanwalee@srisukho.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 มกราคม 2559