ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จับมือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต่อเนื่อง “โครงการบูรณาการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและการดูแลรักษากลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และกลุ่มพนักงานบริการหญิง ปีที่ 2” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งลดผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2 กลุ่มเสี่ยงหลัก หลังพบอัตราการติดเชื้อรายใหม่สูง เน้นในเรื่องการสร้างความครอบคลุมของประชากรกลุ่มหลัก และเข้าถึงบริการอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างความเข้าใจเพื่อเห็นความสำคัญการตรวจคัดกรอง การพัฒนาระบบการตรวจที่มีคุณภาพ พร้อมจับมือเครือข่ายกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และกลุ่มเครือข่ายพนักงานหญิงบริการ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2557-2559 กำหนดเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 2 ใน 3 จากที่คาดประมาณในปี 2559 และตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่คาดประมาณจาก ADIS Epidemic Model ในช่วงปี 2558-2562 ที่ได้ทบทวนข้อมูลล่าสุด พบว่าจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 33,970 คนต่อปี เป็นสัดส่วนจากการับและถ่ายทอดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายถึงร้อยละ 50 และเป็นการติดเชื้อในกลุ่มพนักงานบริการร้อยละ 10

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากข้อมูลอัตราการติดเชื้อเอชไอวีนี้ ในปี 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ร่วมกับสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน “โครงการบูรณาการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและการดูแลรักษากลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และกลุ่มพนักงานบริการหญิง” เพื่อมุ่งลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มการคัดกรองโรคและให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มของ 2 กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบแผนยุติปัญหาเอดส์ชาติในประเทศไทย และปี 2558 นี้ ได้ดำเนินโครงการร่วมกันเป็นปีที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องการป้องกันและลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่

“จากผลดำเนินโครงการในปี 2557ทำให้การควบคุมป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและการเข้าถึงการรักษาในกลุ่มเสี่ยงมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความต้องการใช้บริการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักต่อพฤติกรรมเสี่ยง เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของงานป้องกันและการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษา ผ่านการทำงานเชิงรุกร่วมกับเจ้าหน้าที่ เครือข่ายกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และกลุ่มเครือข่ายพนักงานหญิงบริการ” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว และว่า จากการดำเนินโครงการนี้ยังจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ภาพรวมของประเทศลดลงได้   

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.เห็นความสำคัญต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นใจึงได้อนุมัติงบประมาณในปี 2558 จำนวน 12,002,447 บาท เพื่อสนับสนุนโครงการบูรณาการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและการดูแลรักษากลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์ชาย และกลุ่มพนักงานบริการหญิงต่อเนื่องปีที่ 2 โดยมุ่งดำเนินการ 3 ด้าน ดังนี้

1.การบริการ อาทิ การสร้างความต้องการในการตรวจเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการให้บริการสุขภาพ ทั้งการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี การคัดกรอง การตรวจรักษา 2.งานพัฒนาและประกันสุขภาพการสร้างความต้องการใช้บริการและการให้บริการสุขภาพ อย่างการพัฒนาเจ้าหน้าที่เพื่อทำงานเชิงรุก การพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพ การให้บริการตรวจคัดกรองรักษาที่มีคุณภาพ และ 3.งานด้านบริการจัดการ ได้แก่ การวางแผนงานร่วมกัน การเชื่อมโยงการป้องกันสู่ระบบการดูแลรักษา การจัดระบบติดตามการดำเนินงานร่วมกัน

“การดำเนินงานด้านการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ สปสช.ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยได้กำหนดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา และยังได้สนับสนุนงานด้านการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมานอกจากการกำหนดสิทธิประโยชน์การเข้าถึงยาต้านไวรัส การตรวจคัดกรองการติดเชื้อแล้ว ยังสนับสนุนการสร้างกลไกป้องกันในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการแผนร่วมกันในการดำเนินการ ซึ่งปัญหาด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ไม่ได้เป็นงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นงานที่ทุกคนต้องร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว