ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ประชุม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ นักวิชาการ ประชาชน และผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ได้ข้อสรุป 6 มาตรการ เน้นดูแลคุณภาพน้ำ ดิน อาหาร อากาศ และสุขภาพ เตรียมทำข้อมูลพื้นฐานทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และกระบวนการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพในเหมืองแร่ทองคำ เพื่อสร้างกลไกการดูแลประชาชนอย่างจริงจัง ให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับ

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสุขภาพประชาชนในการทำเหมืองแร่ 4 ฝ่าย ได้แก่ 1.หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม 2.นักวิชาการ เช่น นักธรณีวิทยา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต 3.ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำจากจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ และ4.ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อร่วมกันวางระบบดูแลสุขภาพอนามัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่า ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น พบการปนเปื้อนสารโลหะหนักในเลือด โดยผลการประชุมได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไข 6 มาตรการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ 1.การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำอุปโภค บริโภค มีกรมอนามัยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งผลการตรวจคุณภาพน้ำเบื้องต้นรอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ 40 บ่อ ใน 24 หมู่บ้าน พบว่ามี 8 บ่อ ที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก ส่วนอีก 32 บ่อ ยังคงเฝ้าระวังตรวจคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง

2.การติดตามข้อมูลและการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก 3.การดูแลรักษาสุขภาพประชาชน 4.การพัฒนาระบบบริการ ซึ่ง 2 มาตรการนี้มีคณะทำงานด้านการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ 5.การจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่อาจมีการเปิดเหมืองแร่ทองคำใหม่ และ 6.กระบวนการลดความเสี่ยงในพื้นที่เหมืองแร่ที่กระทบต่อประชาชน ซึ่ง 2 มาตรการนี้จะมีการประชุมกลุ่มย่อยในวันพรุ่งนี้ เพื่อตั้งคณะทำงาน ร่วมวางระบบตรวจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่เหมืองแร่ที่มีปัญหาและเหมืองแร่ใหม่ ครอบคลุมทั้งดิน น้ำ อาหาร อากาศ และสุขภาพ โดยจะเตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งทุกมาตรการจะมีภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดเห็นด้วย เพื่อลดความกังวลใจและสร้างกลไกการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย รวมทั้งชาวบ้านมั่นใจและยอมรับ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นห่วงต่อการเสียชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ 7 ราย ในเบื้องต้นนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานความร่วมมือจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อตรวจชันสูตรศพหาสาเหตุการเสียชีวิต นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อเสนอของที่ประชุมในวันนี้ ซึ่งอาจตั้งคณะทำงานและจัดประชุมร่วมกัน เพื่อให้เกิดนโยบายการทำเหมืองแร่ที่ปลอดภัยต่อประชาชนอย่างจริงจัง