ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

579 องค์กรภาคีสุขภาพ ยื่นหนังสือ “มานิจ” รองประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. ค้านข้อเสนอร่าง รธน.เลิกเก็บ "ภาษีบาป" ชี้ 5 เหตุผลทำชาติเสียผลประโยชน์ แถมยังอุ้ม "บริษัทบุหรี่-เหล้าข้ามชาติ" ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ารัฐ ด้าน “มานิจ” ระบุยังมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น แจง กมธ.หลายคนห่วงการใช้เงิน สสส. ไทยพีบีเอส และกองทุนกีฬา ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เตรียมนำข้อเสนอเข้าหารือ 10-11 ส.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่รัฐสภา เครือข่ายองค์กรภาคีด้านสุขภาพ จำนวน 579 องค์กร อาทิ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายบุหรี่ เครือข่ายเด็ก เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่าย ศ.นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออก นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ รองเลขาธิการสภาอุ​ตสาหกรรม และนายไฉน ก้อนทอง นายกอบต.ดงมูลเหล็ก ต.ดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนตัวแทนภาคเอกชนนำโดย นายมณเฑียร บุญตัน กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยื่นหนังสือต่อ นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ขอคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และบทเฉพาะกาลที่ห้ามและยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ(earmarked tax)หรือ “ภาษีบาป”โดยขอให้นำออกจากร่างรัฐธรรมนูญ

นายมณเฑียร กล่าวว่า ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสุดท้ายก่อนสรุปส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณารับรอง และเปิดให้มีการลงประชามติ ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่เคยเปิดเผยกับสาธารณะมาก่อน ในมาตรา 190เกี่ยวกับการห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) ซึ่งมีบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานที่มีกฎหมายอยู่แล้วให้บังคับใช้ต่อไปอีกไม่เกิน 4 ปี จึงมีการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเห็นพ้องที่จะคัดค้านมาตรา 190 ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลในการคัดค้าน 5 ข้อ ดังนี้

1. การห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน โดยกระบวนการทั้งหมด สาธารณชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้รับทราบหรือมีส่วนให้ข้อมูลหรือความคิดเห็น และไม่ได้อยู่ในร่างที่เคยประชาพิจารณ์ในเวทีต่างๆ มาก่อน  

2.ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นวิธีการหรือเครื่องมือทางงบประมาณที่ประเทศต่างๆในโลกใช้ในการจัดสรรภาษีหรือรายได้ในสัดส่วนจำกัด การยกเลิกกฎหมายไม่จัดเก็บภาษีประเภทนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการนำเครื่องมือทางการเงินการคลังมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และติดอยู่กับวิธีทางงบประมาณแบบเก่าเท่านั้น และนับเป็นเรื่องล้าหลังเมื่อเทียบกับกระแสสากลของโลก ที่หลายประเทศอาทิ อังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ ต่างก็ใช้ระบบภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการพัฒนาประเทศ

3.การจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ของพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีวงเงินจากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ที่เรียกเก็บเพิ่มจากภาษีที่เข้าคลังตามปกติ คิดรวมกันเพียงประมาณร้อยละ 0.3-0.4 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น การยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่และห้ามไม่ให้มีอีกในอนาคต โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการไม่เพียงพอของงบประมาณปกติ นับว่าไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

4.แหล่งภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของประเทศไทย เป็นการจัดเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบเป็นหลัก ไม่ได้แบ่งจากภาษีที่รัฐบาลยังคงเก็บเข้าคลังเต็มจำนวนอยู่แล้ว การยกเลิกกลไกภาษีเฉพาะนี้ จึงเป็นมาตรการที่อุตสาหกรรมทั้งสองได้ประโยชน์และเรียกร้องต่อภาคการเมืองมาตลอด เพราะการยกเลิกภาษีเฉพาะนี้ จะกลับคืนไปเป็นผลกำไรของธุรกิจยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังได้กำจัดองค์กรที่ขัดขวางการทำกำไรของธุรกิจ มีเพียงโรงงานยาสูบที่จะแบ่งกำไรบางส่วน ซึ่งน้อยมาก คืนรัฐบาลในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ธุรกิจเอกชนหรือธุรกิจต่างชาติจะได้เงินคืนกลับไปเต็มๆ และถ้าหากจะแก้กฎหมายใหม่กำหนดให้สามหน่วยงานต้องกลับไปของบประมาณแผ่นดิน ก็จะต้องไปขอแบ่งจากงบประมาณแผ่นดินที่จำกัดอยู่แล้วมาใช้แทนภาษีเพิ่มในส่วนนี้ งานควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพย่อมถดถอยลง ซึ่งเป็นแนวโน้มในทำนองเดียวกับที่หลายประเทศที่หน่วยงานที่จัดตั้งโดยภาษีเฉพาะ ถูกแทรกแซงจากอุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ต่อนโยบายทางการเมือง น่าเสียใจที่ความหวังของอุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ กำลังจะประสบความสำเร็จในรัฐบาลนี้ และในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะนี้และสุดท้าย  

5.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ประกาศตัวในการร่างและประชาพิจารณ์ว่ายึดถือหลักการ "พลเมืองเป็นใหญ่" เป็นหนึ่งในหลักสำคัญ แต่มาตรานี้กลับมีแนวโน้มทำลายกลไกทางสังคม ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้พลเมืองไทย ซึ่งการจำกัดระบบงบประมาณให้ใช้ผ่านระบบราชการเป็นหลักนั้น จะเป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตของประเทศไทย ที่มุ่งหวังว่าจะเกิดการปฏิรูปเชิงระบบจากทุกภาคส่วน

นายมณเฑียร กล่าวต่อว่า การจัดเก็บภาษีแบบ หรือ earmarked tax ของ 3 องค์กรดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยเป็นการจัดเก็บจากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ที่ "เรียกเก็บเพิ่ม" โดย สสส.ได้รับ 2 % ไทยพีบีเอส 1.5 % และกองทุนกีฬา 2 % ซึ่งเป็นการ "เรียกเก็บเพิ่ม" ไม่ได้หักจากภาษีหลังส่งเข้าคลังแล้ว ซึ่งหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในบทเฉพาะกาล เท่ากับบริษัทเหล้าและยาสูบจะได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ คือไม่ต้องจ่ายเงินให้รัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่กระทรวงการคลังก็ยังเก็บภาษีได้เท่าเดิม แต่ผลเสียหายประเทศชาติตามมา คือ 3 องค์กรดังกล่าวจะต้องมาของบประมาณจากรัฐบาลแทน ส่งผลให้ 3 องค์กรที่มีเป้าหมายทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ได้รับผลกระทบต่อการเนินงานในที่สุด

ด้าน นายมานิจ กล่าวภายหลังจากการรับหนังสือว่า ในเรื่องดังกล่าว มีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น เพราะ กมธ.หลายคนมีความห่วงใยในการใช้เงินของ 3 องค์กรดังกล่าว ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะได้มีการคุยกันในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 10-11 ส.ค.นี้ โดยจะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ นำไปประกอบการพิจารณาต่อไป