ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อการโฆษณาหมอฟันเถื่อนที่อวดอ้างจนเกินความเป็นจริง หากต้องการรับบริการทันตกรรมให้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจรับบริการทันตกรรม โดยให้เลือกรับบริการจากทันตแพทย์ และสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้น

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากกรณีการโฆษณารับทำรีเทนเนอร์ และการให้บริการจัดฟันแฟชั่นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขอย้ำว่าผู้ที่ต้องการจะกระทำการรักษากับอวัยวะในช่องปากนั้น จะต้องรับบริการจากทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม เพราะถ้ากระบวนการรักษาทางทันตกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำทันตกรรมไม่ได้มาตรฐาน ไม่สะอาด และไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกวิธี จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และจากร่างกายผู้รับบริการคนหนึ่งไปสู่ร่างกายผู้รับบริการคนอื่นๆ อาทิ โรคตับอักเสบ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ จนไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ขอให้ประชาชนที่ต้องการรับบริการด้านทันตกรรมเลือกรับบริการจากทันตแพทย์ และสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยสามารถสังเกตได้จากหลักฐานต่างๆ เช่น 1.มีการแสดงป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาตจำนวน 11 หลักติดไว้หน้าคลินิก 2.มีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล 3.แสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ชัดเจน แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีของปีปัจจุบัน 4.มีแผ่นป้ายสีน้ำเงินแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะติดไว้หน้าห้องตรวจ นอกจากนี้ สถานพยาบาลหรือคลินิกจะต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาลและสามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้ เพื่อป้องกันอันตรายจากหมอเถื่อน หมอกระเป๋าที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ให้บริการรักษาที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 หากประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, หากพบว่าสถานพยาบาลหรือคลินิกมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินความจริง มีความผิดตาม มาตรา 58 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 68 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะระงับการโฆษณาดังกล่าว นอกจากนี้หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยหรือพบสถานพยาบาลและหมอเถื่อนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ (http://www.mrd.go.th/mrdonline2014), Facebook: สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ (สพรศ.), Facebook: มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และสายด่วน สบส.0 2193 7999 ตลอด 24 ชั่วโมง