ความสนใจต่อการแพทย์พื้นบ้าน วิธีการบำบัดรักษาและยาสมุนไพรของท้องถิ่นในหมู่เกาะอินดีสหรืออินโดนีเซียได้รับความสนใจจากชาวยุโรปมาค่อนข้างยาวนาน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้นชาวยุโรปส่วนใหญ่ล้วนต้องพึ่งพาตำรายาสมุนไพรพื้นเมืองและแพทย์พื้นเมืองในการดูแลรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าการพึ่งพาแพทย์จากตะวันตก ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยมากในหมู่เกาะอินดีส
ในงานศึกษาจำนวนหนึ่งระบุว่าสมุนไพรหลายชนิดที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคนั้นล้วนมาจากทุ่งนาป่าเขา ส่วนศิลปะในทางการแพทย์ในหมู่ชาวสุมาตราก็เป็นทักษะการดูแลอย่างง่ายๆ คนแก่ๆ แทบทุกคนมีความรู้ในการรักษาโรคง่ายๆ โดยต้มสมุนไพรเพื่อใช้ดื่มหรือตำสมุนไพรพอกบริเวณที่จะรักษาหรือใช้น้ำมันนวดเพื่อรักษาอาการเจ็บช้ำภายใน
อย่างไรก็ตาม แม้ชาวยุโรปจะชื่นชมต่อความรู้ด้านสมุนไพรของพวกหมอพื้นบ้านแต่ก็มักมองความรู้ด้านกายวิภาคของหมอพื้นบ้านด้วยความเวทนา และเห็นว่าการขาดวิธีการหาความรู้ในเชิงประจักษ์ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การผลิตความรู้ที่จะประยุกต์ใช้ได้โดยทั่วไป และยังทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างงมงาย
งานศึกษาที่ทำให้ได้รู้จักกับหมอพื้นบ้านและการดูแลรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของสังคมจารีตในอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก คืองานอันมีชื่อเสียงของ Clifford Geertz เรื่อง The Religion of Java ในบทที่ 8 ของหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงการเยียวยารักษาโรคที่รวมถึงการใช้เวทมนตร์คาถา โดยเกียรตซ์บอกว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยในสังคมชวาคือ “ดูกุน” (dukun) ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมแบบเคร่งหรือแบบผสมผสานกับลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ดูกุนเป็นทั้งหมอยา หมอผีและผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามลัทธิความเชื่อแบบชวา
ดูกุนมีหลากหลายรูปแบบอาทิเช่น “dukun baji” คือหมอตำแย “dukun pidjet” คือหมอบีบ/นวด “dukun prewangan” คือคนทรง “dukun tjarak” คือคนทำหน้าที่ขลิบปลายอวัยวะเพศในพิธีสุหนัตของชาวมุสลิม “dukun wiwit” คือหมอพิธีกรรมในเรื่องการเพาะปลูก “dukun sijir” คือหมอผี “dukun djapa” คือหมอเวทมนตร์ “dukun djampi” คือหมอยาสมุนไพร เป็นต้น
ผู้ชายมีบทบาทเหล่านี้ได้หลายอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือหมอตำแยซึ่งเป็นบทบาทของผู้หญิง และดูกุนที่สามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่างเกือบทั้งหมดก็อาจมีชื่อเรียกพิเศษว่า “dukun bijasa” หรืออาจเรียกว่า “dukun” เฉยๆ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีความสำคัญหรือมีความสามารถพิเศษกว่าคนอื่นๆ
การสืบทอดความเป็นดูกุนเหล่านี้แม้จะมาจากบรรพบุรุษแต่ทักษะต่างๆ จะต้องมาจากการฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเชื่อกันว่าคนที่จะเป็นดูกุนได้จะต้องมีพลังพิเศษมิฉะนั้นจะเกิดปัญหา เช่นกลายเป็นคนบ้าได้ ดังนั้น มิใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นได้บางคนจึงต้องมีการเตรียมตัวเพื่อเตรียมความพร้อมทางจิตวิญญาณในการรับการถ่ายทอดความเป็นดูกุน เช่นถือศีลอดเป็นระยะเวลาร้อยวันหรือมากกว่านั้น ส่วนความรู้ต่างๆ เหล่านี้บางครั้งก็ได้มาด้วยวิถีทางแบบเหนือธรรมชาติจึงเป็นทักษะพิเศษทางไสยศาสตร์ สามารถทำนายอนาคต เสกมนตร์คาถาคุ้มกันร่างกาย ร่ายมนตร์ทำให้คนหลับได้ หรือสามารถเหาะเหินเดินอากาศ หายตัวไปจนถึงแปลงร่างเป็นเสือสิงห์กระทิงป่า ฯลฯ
การได้รับการยอมรับหรือเกียรติยศของดูกุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากการมีอำนาจในการบำบัดรักษาโรค การรักษาโรคมีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคและการเลือกหาวิธีการรักษา โดยการวินิจฉัยนั้นอาจมาจากวิธีการ 3 อย่างผสมผสานกันหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การคำนวณด้วยวิธีการทางโหราศาสตร์ การรับรู้โดยฌานสมาธิและการวิเคราะห์อาการโรค ส่วนขั้นตอนหลังเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้วิธีการบำบัดรักษา
ทั้งนี้การเลือกยาสมุนไพรสำหรับโรคชนิดเดียวกันในแต่ละคนโดยดูกุน อาจจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละคน นอกจากยาสมุนไพรและการนวดเฟ้นแล้ว ดูกุนบางคนยังอาจกำกับการรักษาด้วยคาถาบางอย่าง ซึ่งเชื่อว่าทำให้ยาสมุนไพรมีพลังรักษาเพิ่มยิ่งขึ้น
เกียรตซ์เห็นว่าอำนาจในการรักษาของดูกุนเป็นเรื่องทางจิตวิทยาร่วมด้วย ดูกุนบางคนเห็นว่าสิ่งที่ทำให้การรักษาของตนเหนือกว่าการแพทย์ตะวันตก คือการรักษาโรคที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัดโดนการแพทย์ตะวันตก นอกจากการป่วยไข้และการบำบัดด้วยการใช้ยาสมุนไพรและคาถามากำกับสรรพคุณยาแล้ว ที่น่าสนใจคือความเชื่อและปฏิบัติการ “เล่นของ” หรือการใช้คาถาอาคมเสกของเข้าร่างกายของบุคคลเป้าหมาย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่างๆ นานาไปจนถึงการเอาชีวิตฝ่ายตรงข้าม และการใช้อาคมแก้ความป่วยไข้ดังกล่าวนั้น แม้แต่แพทย์เองก็เริ่มส่งสัยว่าการใช้คาถาอาคมเสกของทำร้ายกันอาจจะมีอยู่จริงก็เป็นได้
กล่าวได้ว่า อิทธิพลจากงานเขียนของ Clifford Geertz ได้ทำให้นักวิชาการชวาจำนวนหนึ่งหันมาสนใจศึกษาและพยายามที่จะอธิบายความหมายของดูกุนหรือหมอพื้นบ้านในอินโดนีเซียจากมุมมองของคนในท้องถิ่นเกิดขึ้นตามมา
เก็บความจาก
ทวีศักดิ์ เผือกสม. “ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์การแพทย์และการแพทย์พื้นบ้านในอินโดนีเซีย” ใน วัฒนธรรมสุขภาพในสังคมอาเซียน. นนทบุรี: สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2558, หน้า 51-63.
ขอบคุณภาพจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Dukun#/media/File:COLLECTIE_TROPENMUSEUM_Een_dukun_tijdens_de_bereiding_van_zijn_geneesmiddelen_TMnr_60027035.jpg
- 1779 views